เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อ...

Post on 02-Oct-2020

10 Views

Category:

Documents

0 Downloads

Preview:

Click to see full reader

TRANSCRIPT

พระปฐมบรมราชโองการ ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ

วันศุกร์ ที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓

เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม

พระราชดำรัส พระราชทานแก่ประชาราษฎร

วันพฤหัสบดี ที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๔๙๙

“...อันพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติของเรานี้ ตามความอบรมที่ ได้รับมาก็ดี ตามความศรัทธาเชื่อถือส่วนตัวข้าพเจ้าก็ดี เห็นเป็นศาสนาที่ดีศาสนา หนึ่ง มีคำสั่งสอนให้คนประพฤติเป็นคนดี ทั้งเพียบพร้อมด้วยบรรดาสัจจธรรมอัน ชอบด้วยเหตุผล น่าเลื่อมใสยิ่งนัก...”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและประกาศนียบัตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๐๐

“...อันสิ่งที่เรียกกันว่า “อุดมคติ” นั้น ก็ คือมโนภาพหรือความนึกคิดถึงความดีความงามอันเลอเลิศในสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งถ้าเป็นไปตาม มโนภาพนั้นแล้ว ก็จะจัดว่าเป็นของที่ดีที่งามเลิศด้วยประการทั้งปวง กล่าวโดยทั่วไป มนุษย์ เราย่อมปรารถนาจะประสบแต่สิ่งที่ดีงามเจริญตาเจริญใจ จึงควรจะได้มีอุดมคติด้วยกันทั้งนั้น แต่หากควรเป็นไปในทางไม่ก่อความเบียดเบียนแก่ผู้อื่น โดยเพ่งเล็งถึงประโยชน์สุขของผู้อื่น หรือส่วนรวมด้วย การเล็งผลดีหรืองามเลิศดั่งว่านี้ ถ้าหากเป็นไปเพียงแต่เพื่อประโยชน์สุขของตนเองเท่านั้น และเป็นการเบียนประโยชน์สุขของผู้อื่นแล้ว ก็จะกลายเป็นความเห็นแก่ตัวหาควรได้ชื่อว่า “อุดมคติ” ไม่...”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๐๔

“...บรรดาผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรของมหาวิทยาลัย ก็เปรียบเหมือนได้กุญแจที่จะ ไขไปสู่ชีวิตที่เจริญต่อไปในวันข้างหน้า แต่ขอเตือนว่าการดำเนินชีวิตโดยใช้วิชาการอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ จะต้องอาศัยความรู้รอบตัว และหลักศีลธรรมประกอบด้วยผู้ที่มีความรู้ดี แต่ขาดความยั้งคิด นำความรู้ไปใช้ในทางมิชอบ ก็เท่ากับเป็นบุคคลที่เป็นภัยแก่สังคมของมนุษย์ ฉะนั้น ขอให้ทุกคนจงดำรงชีวิตและประกอบอาชีพ โดยอาศัยวิชาความรู้ที่ได้รับมาประกอบด้วยความยั้งคิดชั่งใจ และศีลธรรมอันดีงาม เพื่อความเจริญก้าวหน้าของตนเองและ ของประเทศชาติ...”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตและนักศึกษาวิทยาลัยวิชาการศึกษา

วันพฤหัสบดี ที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๐๕

“...การศึกษาเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญยิ่งของมนุษย์ คนเราเมื่อเกิดมาก็ได้รับการสั่งสอนจากบิดามารดา อันเป็นความรู้เบื้องต้น เมื่อเจริญเติบโตขึ้นก็เป็นหน้าที่ของครูและอาจารย์สั่งสอนให้ได้รับวิชาความรู้สูง และอบรมจิตใจให้ถึงพร้อมด้วยคุณธรรม เพื่อจะได้เป็นพลเมืองดีของชาติสืบต่อไป งานของครูจึงเป็นงานที่สำคัญยิ่ง ท่านทั้งหลายซึ่งจะออกไป ทำหน้าที่ครู จะต้องตั้งมั่นอยู่ในหลักศีลธรรม และพยายามถ่ายทอดวิชาความรู้แก่เด็กให้ดีที่สุดที่จะทำได้ นอกจากนี้ จงวางตนให้สมกับที่เป็นครูให้นักเรียนมีความเคารพนับถือ และเป็นที่เลื่อมใสไว้วางใจของผู้ปกครองนักเรียนด้วย...”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๖

“...การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด ว่าที่จริงแล้วคนโดย มากไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้าไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้...”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประกาศนียบัตร และอนุปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาสาขาวิชาและวิชาต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันพฤหัสบดี ที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๑๒

“...ทุกคนมีชาติบ้านเมืองเป็นที่เกิดที่อาศัย ทุกคนจะมีความสุขความเจริญได้ก็เพราะบ้านเมืองเป็นปรกติมั่นคง ผู้ที่ทำงานให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมย่อมได้รับประโยชน์เป็นส่วนของตนด้วย ผู้ที่ทำงานโดยเห็นแก่ตัวเบียดเบียนประโยชน์ส่วนรวม ย่อมบั่นทอนทำลายความมั่นคงของประเทศชาติ...”

พระราชดำรัส ในพิธีเปิดการประชุมการสังคมสงเคราะห์แห่งชาติ ครั้งที่ ๕

ณ ห้องประชุมศาลาสันติธรรม วันอาทิตย์ ที่ ๖ เมษายน ๒๕๑๒

“...การเข้าใจถึงสถานการณ์และสภาพการของผู้ที่เราจะช่วยเหลือนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด การช่วยเหลือให้เขาได้รับสิ่งที่เขาควรจะได้รับตามความจำเป็นอย่างเหมาะสม จะเป็นการช่วยเหลือที่ได้ผลดีที่สุด...”

พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่คณะผู้บริหารงานเร่งรัดพัฒนาชนบท ระดับผู้ว่าราชการจังหวัด

ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน วันศุกร์ ที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๑๒

“...การพัฒนาชนบทเป็นงานที่สำคัญ เป็นงานที่ยาก เป็นงานที่จะต้องทำให้ได้ด้วย ความสามารถ ด้วยความเฉลียวฉลาด คือทั้งเฉลียวทั้งฉลาด ต้องทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ มิใช่มุ่งที่จะหากินด้วยวิธีการใด ๆ ใครอยากหากินขอให้ลาออกจากตำแหน่ง ไปทำการค้าดีกว่า เพราะว่าถ้าทำผิดพลาดไปแล้วบ้านเมืองของเราล่มจม และเมื่อบ้านเมืองเราล่มจมแล้วเราอยู่ไม่ได้ ก็เท่ากับเสียหมดทุกอย่าง...”

�0

พระบรมราโชวาท ในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ ๖

ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี วันพฤหัสบดี ที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๑๒

“...ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปรกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดีหากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมืองและควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้...”

��

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและประกาศนียบัตรของวิทยาลัยวิชาการศึกษา

ณ วิทยาลัยวิชาการศึกษา ถนนประสานมิตร วันศุกร์ ที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๑๒

“...งานด้านการศึกษาเป็นงานสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของชาติ เพราะความเจริญและความเสื่อมของชาตินั้น ขึ้นอยู่กับการศึกษาของพลเมืองเป็นข้อใหญ่ ตามข้อเท็จจริงที่ทราบกันดีแล้ว ระยะนี้บ้านเมืองของเรามีพลเมืองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งมีสัญญาณบางอย่างเกิดขึ้นด้วยว่า พลเมืองของเราบางส่วนเสื่อมทรามลงไปในความประพฤติและจิตใจ ซึ่งเป็นอาการที่น่าวิตกว่า ถ้าหากยังคงเป็นอยู่ต่อไป เราอาจเอาตัวไม่รอด ปรากฏการณ์เช่นนี้ นอกจากเหตุอื่นแล้ว ต้องมีเหตุมาจากการจัดการศึกษาด้วยอย่างแน่นอน จึงพูดได้เต็มปากแล้วว่า เราจะต้องจัดงานด้านการศึกษาให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น และผู้มีหน้าที่ทางด้านนี้ทุกฝ่าย ทุกระดับ ทุกคนจะต้องทำงานกันจริง ๆ ให้หนักแน่นขึ้นอีกมาก ๆ...”

��

พระบรมราโชวาท ในการเปิดประชุมใหญ่ ครั้งที่ ๑๗ ของสมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักร

ณ ศาลาการเปรียญบนภูสิงห์ อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ วันพุธ ที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๑๒

“...พระพุทธศาสนาบริบูรณ์ด้วยสัจจธรรมที่เป็นสาระและเป็นประโยชน์ในทุกระดับ แต่ จะต้องศึกษาให้มีความรู้เข้าใจและปฏิบัติให้เหมาะสมแก่ภาวะปัจจุบันด้วยศรัทธาและปัญญา ที่ถูกต้อง จึงจะเกิดเป็นประโยชน์ขึ้นได้ บัดนี้ ประเทศชาติกำลังพัฒนาในทุกด้าน และต้องการความสามัคคีความสงบเรียบร้อย ผลดีทั้งปวงดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ด้วยประชาชนมีหลักของใจอันมั่นคง มีศรัทธาและปัญญาอันถูกต้อง และปฏิบัติตนอยู่ในทางที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม กรณียกิจอันสำคัญของท่านทั้งหลายคือการส่งเสริมประชาชน ให้มีพระรัตนตรัยและธรรมในพระพุทธศาสนาเป็นหลักของใจและความประพฤติ ด้วยศรัทธาและปัญญาที่ถูกต้อง แต่ทั้งนี้ท่านทั้งหลายจะต้องเจริญศรัทธาและปัญญาที่ถูกต้อง คือความเชื่อในเหตุที่แท้ในผลที่แท้ไม่สับปลับและปัญญาสามารถรู้ตามความเป็นจริงอันเกิดจากความสงบแน่วแน่ของจิตต์ ให้เกิดขึ้นในตนเองก่อน จึงจะสามารถพิจารณาให้เห็นวิธีปฏิบัติเพื่อรักษาส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติได้...”

��

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันพฤหัสบดี ที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๑๓

“...งานพัฒนาบ้านเมืองนั้น ต้องอาศัยบุคคลสองประเภทคือนักวิชากับผู้ปฏิบัติ นักวิชาการเป็นผู้วางโครงการ เป็นผู้นำ เป็นผู้ชี้ทาง เป็นที่ปรึกษาของผู้ปฏิบัติ ส่วนผู้ปฏิบัตินั้นเป็นผู้ลงมือลงแรงกระทำงาน งานจะได้ผลหรือไม่เพียงไร ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลสองฝ่ายนี้...”

��

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยศิลปากร

ณ ท้องพระโรง วังท่าพระ วันจันทร์ ที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๑๓

“...งานด้านการศึกษา ศิลปะและวัฒนธรรมนั้น คืองานสร้างสรรค์ความเจริญทางปัญญาและทางจิตใจ ซึ่งเป็นทั้งต้นเหตุทั้งองค์ประกอบ ที่ขาดไม่ได้ ของความเจริญด้านอื่น ๆ ทั้งหมด และเป็นปัจจัยที่จะช่วยให้เรารักษาและดำรงความเป็นไทยไว้ได้สืบไป...”

��

พระราชดำรัส พระราชทานในการเสด็จฯ พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ฯ

วันพฤหัสบดี ที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๑๓

“...หน้าที่ของท่านในการเผยแพร่หลักธรรมในพระพุทธศาสนา จึงอยู่ที่การเลือกเฟ้น ข้อธรรมะ และเลือกเฟ้นวิธีการสอน การใช้คำพูดที่เหมาะ อธิบายหลักธรรมะ เทียบเคียงกับตัวอย่างที่เป็นของจริง จนเห็นชัดเจนได้ตามสภาพจิตใจของคนสมัยปัจจุบัน เพื่อช่วยให้แต่ละคนสามารถค้นหาและเข้าใจข้อธรรมะ ซึ่งจะนำมาใช้เป็นหลักการในการดำเนินชีวิตได้อย่างเหมาะสมตามฐานะของตน ๆ...”

��

พระราชดำรัส พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในพิธีเปิดการประชุมยุวพุทธิกสมาคมทั่วประเทศ

ครั้งที่ ๑๒ ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วันเสาร์ ที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๑๓

“...ในบ้านเมืองเราทุกวันนี้ มีเสียงกล่าวกันว่า ความคิดจิตใจของคนเปลี่ยนแปลง ไปในทางที่เสื่อม ความประพฤติที่เป็นความทุจริตหลายอย่าง มีท่าทีที่จะกลายเป็นสิ่งที่ คนทั่วไปพากันยอมรับ และสมยอมให้กระทำกันได้เป็นธรรมดา สภาพการณ์เช่นนี้ย่อม ทำให้วิถีชีวิตของแต่ละคนมืดมัวลงไป เป็นปัญหาใหญ่ที่เหมือนกระแสคลื่นอันไหลบ่าเข้ามาท่วมทั่วไปหมด จำเป็นต้องแก้ไขด้วยการช่วยกันฝืนคลื่นที่กล่าวนั้น ในการดำเนินชีวิตของเรา เราต้องข่มใจไม่กระทำสิ่งใด ๆ ที่เรารู้สึกด้วยใจจริงว่าชั่วว่าเสื่อม เราต้องฝืนต้องต้านความคิดและความประพฤติทุกอย่างที่รู้สึกว่าขัดกับธรรมะ เราต้องกล้าและบากบั่นที่จะกระทำสิ่งที่เราทราบว่าเป็นความดี เป็นความถูกต้อง และเป็นธรรม ถ้าเราร่วมกันทำเช่นนี้ให้ได้จริง ๆ ให้ผลของความดีบังเกิดมากขึ้น ๆ ก็จะช่วยค้ำจุนส่วนรวมไว้มิให้เสื่อมลงไป และจะช่วยให้ฟื้นคืนดีขึ้นได้เป็นลำดับ...”

��

พระราชดำรัส ในการเปิดประชุมใหญ่ของสมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักร ครั้งที่ ๒๐

ณ พุทธสถาน จังหวัดเชียงใหม่ วันศุกร์ ที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๑๕

“...ศาสนาชี้ทางดำเนินชีวิตที่ปราศจากโทษ ทำให้มีความเจริญร่มเย็น คนจึงเชื่อถือประพฤติปฏิบัติตาม ทั้งอุดหนุนค้ำชูศาสนาเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขความสวัสดีของตน พระพุทธศาสนานั้นมีลักษณะพิเศษประเสริฐในประการที่อาศัยเหตุผลอันเที่ยงแทต้ามเป็นจริงเป็นพื้นฐาน แสดงคำสั่งสอนที่บุคคลสามารถใช้ปัญญาไตร่ตรองตามและหยิบยกขึ้นปฏิบัติเพื่อความสุขความเจริญและความบริสุทธิ์ได้ตามวิสัยของตน จึงเป็นศาสนาที่เข้ากับหลักวิทยาศาสตร์ ง่ายที่จะส่งเสริม การที่ท่านทั้งหลายจะทะนุบำรุงเผยแผ่ให้แพร่หลายมั่นคง ควรได้ยึดเหตุผลเป็นหลักการ นำข้อธรรมะที่เหมาะแก่เหตุการณ์ เหมาะแก่บริษัทและแก่บุคคลมาชี้แจงให้ ถูกต้องตรงตามเนื้อแท้ของธรรมะนั้น ๆ พร้อมทั้งแสดงการกระทำที่มีเหตุผลและมีความบริสุทธิ์ใจให้เป็นตัวอย่างด้วยตนเอง การบำรุงพระพุทธศาสนา ตลอดจนงานสร้างเสริมศีลธรรมจริยธรรม ทั้งในผู้ใหญ่ผู้เยาว์ของท่าน จะบรรลุผลที่น่าพึงพอใจได้ไม่ยากนัก...”

��

พระราชดำรัส พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในพิธีเปิดการประชุมยุวพุทธิกสมาคมทั่วประเทศ ครั้งที่ ๑๓

ที่วิทยาลัยครูนครปฐม จังหวัดนครปฐม วันศุกร์ ที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๑๖

“...การแก้ไขปัญหาเยาวชน ที่ยุวพุทธิกสมาคมจะทำได้อย่างดี ควรจะได้แก่การปลูกฝังความคิดจิตใจที่สุจริต และส่งเสริมความประพฤติที่ดีงามต่าง ๆ ในการนี้มีจุดสำคัญที่เป็นหลักปฏิบัติอยู่ ที่จะต้องพิสูจน์ว่า การทำสิ่งที่ดีงามนั้นไม่ใช่ของที่พ้นสมัยหรือที่น่ากระดากอาย หากเป็นของที่ทุกคนทำได้ไม่ยาก และให้ผลตอบแทนอย่างคุ้มค่า เพราะความดีนั้นทรงค่าและทรงผลดีอยู่ตลอดกาลมิได้เปลี่ยนแปลง มีแต่ค่านิยมในความดีเท่านั้น ที่เปลี่ยน แปลงไปท่านทั้งหลายควรสำรวจความคิดความเข้าใจของท่านในเรื่องเหล่านี้ ด้วยความสุจริตใจให้กระจ่าง แล้วหาทางอธิบายแก่ผู้อื่นด้วยเหตุผลอย่างเหมาะสม ทั้งต้องเพียรพยายามทำอยู่ตลอดไปโดยไม่ท้อถอย เชื่อว่า ถ้าได้ร่วมมือพร้อมเพรียงกันจริง ๆ แล้ว จะสามารถแก้ปัญหาน่าวิตกนี้ได้อย่างมากที่สุด...”

��

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันศุกร์ ที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๑๖

“...ความรู้จักอดทนและอดกลั้น ไม่ยอมตัวยอมใจให้วู่วามไปตามเหตุการณ์ ตามอคติ และตามอารมณ์ที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจนั้นทำให้เกิดมีการยั้งคิด และธรรมดาคนเรา เมื่อยั้งคิดได้แล้ว ย่อมมีโอกาสที่จะพิจารณาเรื่องที่ทำคำที่พูด ทบทวนดูใหม่ได้อีกคำรบหนึ่ง การพิจารณาทบทวนเรื่องใด ๆ ใหม่ ย่อมจะช่วยให้มองเห็นละเอียดชัดเจนขึ้น ทำให้เกิดความเข้าใจอันกระจ่างสว่าง ไสว ทั้งในแง่ที่จะคิด ทั้งในทางที่จะปฏิบัติ ปัญหาหรือความติดขัดก็ย่อมบรรเทาลง สามารถจะดำเนินงานทุกอย่างต่อไปได้โดยถูกต้องไม่ผิด ไม่พุ่ง ไม่หลง และไม่เสียเวลา งานที่ทำก็จะบรรลุผลสมบูรณ์บริบูรณ์...”

�0

กระแสพระบรมราโชวาท พระราชทานแก่นักเรียน นักศึกษา ครู และอาจารย์ ในโอกาสเข้าเฝ้าฯ

ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร วันเสาร์ ที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๑๖

“...การสร้างสรรค์ตนเอง การสร้างบ้านเมืองก็ตาม มิใช่ว่าสร้างในวันเดียวต้องใช้เวลาต้องใช้ความเพียร ต้องใช้ความอดทนเสียสละ แต่สำคัญที่สุดคือความอดทน คือไม่ย่อท้อ ไม่ย่อท้อในสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่ดีงามนั้นทำมันน่าเบื่อ บางทีเหมือนว่าไม่ได้ผลไม่ดัง คือดูมันครึทำดีนี่ แต่ขอรับรองว่า การทำให้ดีไม่ครึต้องมีความอดทน เวลาข้างหน้าจะเห็นผลแน่นอนในความอดทนของตน ในความเพียรของตน ต้องถือว่าวันนี้เราทำยังไม่ได้ผล อย่าไปท้อบอกว่าวันนี้เราทำแล้ว ก็ไม่ได้ผล พรุ่งนี้เราจะต้องทำอีก วันนี้เราทำ พรุ่งนี้เราก็ทำ อาทิตย์หน้าเราก็ทำ เดือนหน้าเราก็ทำ...”

��

พระบรมราโชวาท พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในโอกาสที่พุทธสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

และบรรดาพุทธสมาคมในเครือทั่วราชอาณาจักร จะได้จัดให้มีการประชุมสมาคมพระพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักร ครั้งที่ ๒๒

ณ หอประชุมวัดโสธรฯ อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ระหว่างวันที่ ๗-๙ ธันวาคม ๒๕๑๗

“...พระพุทธศาสนามีคำสั่งสอนที่เป็นสัจจธรรมและเป็นไปตามเหตุผล ดังนั้น ผู้มี ปัญญาตริตรองจึงเห็นจริง และมีศรัทธาเกิดขึ้นอย่างมั่นคง การส่งเสริมเผยแพร่พระศาสนากล่าวได้ว่าควรจะเน้นที่การสร้างศรัทธาเป็นข้อสำคัญ ศรัทธาความเชื่อนั้น กล่าวได้ว่ามีสองอย่าง ได้แก่ศรัทธาที่มีผู้อื่นชักนำกับศรัทธาที่เกิดขึ้นในตนเอง ศรัทธาอย่างไหนก็ตาม อาจให้ผลได้ทั้งทางดีและทางเสื่อม ขึ้นอยู่กับวิธีการที่สร้างขึ้น ถ้าสักแต่ว่าเชื่อ ไม่ได้ใช้ปัญญาพิจารณาแล้ว ก็ไม่ได้ประโยชน์จากศรัทธานั้น อาจเกิดโทษก็ได้ จำเป็นต้องใช้ปัญญาความรู้เหตุรู้ผล พิจารณาวิเคราะห์ให้เห็นถ่อง แท้ก่อน ว่าเรื่องใด สิ่งใดมาจากความคิดที่ดีหรือจากความคิดที่ชั่ว แล้วปลูกศรัทธาลงแต่ในส่วนที่เกิดจากความคิดที่ดี จึงจะได้ประโยชน์เต็มเปี่ยม ผู้ที่จะเผยแพร่พุทธธรรม ควรอย่างยิ่งที่จะถือเป็นภาระเบื้องต้น ในการชี้แจงให้ผู้ฟังเห็นคุณเห็นโทษของสิ่งต่าง ๆ โดยชัดแจ้ง จึงจะสามารถสร้างศรัทธาที่ถูกต้องให้เกิดขึ้นได้ และสามารถจรรโลงพระศาสนา ส่งเสริมจริยธรรมได้เป็นผลสำเร็จ...”

��

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันพฤหัสบดี ที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๑๘

“...ความสุขความเจริญอันแท้จริงนั้น หมายถึงความสุขความเจริญที่บุคคลแสวงหามาได้ด้วยความเป็นธรรม ทั้งในเจตนาและการกระทำ ไม่ใช่ได้มาด้วยความบังเอิญ หรือด้วยการแก่งแย่งเบียดบังมาจากผู้อื่น...”

��

พระราชดำรัส ในการเปิดประชุมใหญ่ของสมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักร ครั้งที่ ๒๓

ณ วิทยาลัยครูจันทบุรี อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี วันเสาร์ ที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๑๘

“...พระพุทธศาสนาชี้ทางดำเนินชีวิตที่ปราศจากโทษ ช่วยให้เกิดความเจริญร่มเย็นได้อย่างแท้จริง เพราะมีคำสั่งสอนที่มีลักษณะพิเศษประเสริฐในประการที่อาศัยเหตุผลอันถูกต้องเที่ยงตรงตามความเป็นจริงเป็นพื้นฐาน และแสดงคำอธิบายที่ครบถ้วนชัดเจนอันบุคคลสามารถใช้ปัญญาไตร่ตรองตามและหยิบยกขึ้นปฏิบัติเพื่อความสุขความเจริญและความบริสุทธิ์ได้ตามความสามารถและอัธยาศัยของตน ๆ จึงเป็นศาสนาที่เข้ากับหลักวิทยาศาสตร์และเป็นประโยชน์ได้แท้จริงแก่ทุกคนที่จะพอใจหันเข้ามาศึกษาเลือกสรรหัวข้อธรรมที่เหมาะสมไปปฏิบัติ...”

��

พระราชดำรัส พระราชทานในพิธีพระราชทานธงประจำรุ่นลูกเสือชาวบ้าน จังหวัดชลบุรี

ณ จิตตภาวันวิทยาลัย อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี วันอาทิตย์ ที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๑๙

“...ประเทศชาติจะอยู่ได้ ก็ด้วยความสามัคคี เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ไม่ ปัดขาปัดแข้งกัน หรืออิจฉาริษยากัน ทำเช่นนั้นก็จะทำให้เมืองไทยอยู่ต่อไปได้อย่างที่เคยอยู่มาเป็นหลายศตวรรษมาแล้ว ไม่มีใครที่จะมาล้มเราได้ ถ้าเราไม่ล้มตนเอง...”

��

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันพฤหัสบดี ที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๑๙

“...ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดที่เป็นอยู่แก่เราในวันนี้ ย่อมมีต้นเรื่องมาก่อน เช่นที่ท่านมี ความรู้มีปริญญาอยู่ขณะนี้ ก็เป็นเพราะได้ลงทุนลงแรงเล่าเรียนมา ต้นเรื่องนั้นคือเหตุ สิ่ง ที่ได้รับคือผล และผลที่ท่านมีความรู้อยู่ขณะนี้ จะเป็นเหตุให้เกิดผลอย่างอื่นต่อไปอีก คือทำให้สามารถใช้ความรู้ที่มีอยู่การทำงานที่ต้องการได้ แล้วการทำงานของท่านก็จะเป็นเหตุให้เกิดผลอื่น ๆ เนื่องกันไปอีกไม่หยุดยั้ง ดังนั้นที่พูดกันว่าให้พิจารณาเหตุผลให้ดีนั้น กล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็คือให้พิจารณาการกระทำหรือกรรมของตนให้ดีนั่นเอง คนเราโดยมาก มักนึกว่า อนาคตจะเป็นอย่างไร เราทราบไม่ได้ แต่ที่จริง เราย่อมจะทราบได้บ้างเหมือนกัน เพราะอนาคตก็คือผลของการกระทำในปัจจุบัน ถ้าปัจจุบันทำดี อนาคตก็ไม่ควรจะตกต่ำ ฉะนั้น เมื่อกระทำการใด ๆ ควรจะได้นึกว่าการนั้นจะมีผลสืบไปในอนาคต จัก ได้มีสติ กระทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยความรู้ตัวและระมัดระวัง ทั้งควรจะสำนึกตระหนักด้วยว่า การพิจารณาการกระทำของตนเองในปัจจุบันนั้น นับว่าสำคัญที่สุดจะต้องคิดพิจารณาให้รอบคอบและถ่องแท้ทุกครั้งไป มิฉะนั้น ผลที่เกิดขึ้นอาจทำให้ต้องผิดหวังอย่างมากที่สุด ก็เป็นได้...”

26

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันเสาร์ ที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๑๙

“...อคตินั้นเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้มองไม่เห็นทางเพราะลำเอียงเข้าข้างตัวด้วยอำนาจความรักบ้างความชังบ้างความหลงใหลบ้าง เมื่อเกิดอคติแล้วก็จะทำให้สับสนในเหตุและผล ไม่ทำตามเหตุผล และเมื่อไม่ทำตามเหตุผลความผิดพลาดก็ต้องเกิดขึ้น...”

27

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันศุกร์ ที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๑๙

“...การจะทำงานให้มีประสิทธิผลและให้ดำเนินไปได้โดยราบรื่นนั้น จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องทำด้วยความรับผิดชอบอย่างสูง ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง ไม่บิดเบือนจุดประสงค์ที่แท้จริงของงานสำคัญที่สุดต้องเข้าใจความหมายของคำว่า“ความรับผิดชอบ”ให้ถูกต้อง...”

28

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยรามคำแหง

ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร วันศุกร์ ที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๒๐

“...การที่จะทำงานให้สัมฤทธิ์ผลที่พึงปรารถนาคือที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรมด้วยนั้นจะอาศัยความรู้แต่เพียงอย่างเดียวมิได้จำเป็นต้องอาศัยความสุจริตความบริสุทธิ์ใจและความถูกต้องเป็นธรรมประกอบด้วย...”

29

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประกาศนียบัตร และอนุปริญญาบัตร

ของมหาวิทยาลัยศิลปากร ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยศิลปากร วันอังคาร ที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๒๐

“...ความเจริญนั้นมักจำแนกกันเป็นสองอย่าง คือความเจริญทางวัตถุอย่างหนึ่ง และความเจริญทางจิตใจอีกอย่างหนึ่งยิ่งกว่านั้นยังเห็นกันว่าความเจริญอย่างแรกอาศัยวิชาการทางด้านวิทยาศาสตร์เป็นปัจจัยสร้างสรรค์ ส่วนความเจริญอย่างหลังอาศัยศิลปะศีลธรรมจรรยาเป็นปัจจัย แท้จริงแล้ว ความเจริญทางวัตถุกับความเจริญทางจิตใจก็ดี หรือความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์กับทางด้านศิลปะศีลธรรมจรรยาก็ดี มิใช่สิ่งที่จะแยกออกจากกันให้เด็ดขาดได้ ทั้งนี้เพราะสิ่งที่เราพยายามจะแยกออกจากกันนั้นมีมูลฐานที่เกิดอันเดียวกันคือ“ความจริงแท้”ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์ถึงจะพยายามแยกจากกันอย่างไรๆที่สุดก็จะรวมลงสู่กำเนิดจุดเดียวกัน แม้แต่จุดประสงค์ก็จะลงสู่จุดเดียวกัน คือความสุข ความพอใจของทุกคน...”

30

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร

แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ณ สวนอัมพร

วันพุธ ที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๒๒

“...เมื่อวันวาน ข้าพเจ้าได้กล่าวแก่บัณฑิตในที่ประชุมนี้ว่า การให้การศึกษาโดยความหมายรวบยอด หมายถึงการช่วยให้บุคคลค้นพบวิธีดำเนินชีวิตที่ไปสู่ความเจริญและความสุข ผู้สอนมีหน้าที่หาความรู้และวิธีการดำเนินชีวิตที่ดีมาให้ศิษย์ เพื่อให้สามารถเรียนรู้ให้ก้าวหน้า และดำเนินชีวิตต่อไปด้วยดีจนบรรลุจุดหมาย ในการนี้ หากผู้สอนมีอุบายหรือวิธีการอันแยบคายแล้วจะช่วยให้การสอนได้ผลและมีประสิทธิภาพสมบูรณ์...”

31

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร

แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ณ สวนอัมพร

วันพฤหัสบดี ที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๒๒

“...การทำงานใดๆไม่ว่าเล็กใหญ่ง่ายยากถ้าย่อหย่อนจากความเพียรแล้วยากที่จะให้สำเร็จเรียบร้อยทันเวลาได้การฝึกฝนความเพียรถึงหากแรกๆจะรู้สึกเหน็ดเหนื่อยลำบากแต่พอได้เพียรจนเป็นนิสัยแล้วก็จะกลับเป็นพลังอย่างสำคัญที่คอยกระตุ้นเตือนให้ทำงานอย่างจริงจังด้วยใจร่าเริง...”

32

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร

แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ณ สวนอัมพร

วันศุกร์ ที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๒๒

“...คุณสมบัติพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับทุกคนนั้น ที่สำคัญได้แก่ความรู้จักผิดชอบชั่วดีความละอายชั่วกลัวบาปความซื่อสัตย์สุจริตทั้งในความคิดและการกระทำ ความไม่เห็นแก่ตัว ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ความไม่มักง่าย หยาบคายกับอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญเป็นพิเศษคือความขยันหมั่นเพียร...”

33

พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่คณะครูและนักเรียนที่ ได้รับพระราชทานรางวัล

ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันพุธ ที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๒๒

“...การศึกษาที่ดีด้านวิชาการเป็นทั้งรากฐานและปัจจัยสำหรับการสร้างสรรค์ แต่การที่จะนำเอาวิชาการมาสร้างสรรค์ให้สำเร็จได้นั้น จำเป็นที่สุด ที่จะต้องอาศัยการศึกษาที่ดีด้านอื่นๆเข้าประกอบอุดหนุนด้วยการศึกษาด้านอื่นๆนั้นหมายถึงการศึกษาอบรมทุกๆอย่างทั้งทางความคิดจิตใจและความประพฤติปฏิบัติ อันเป็นตัวสำคัญในการฝึกฝนขัดเกลาให้บุคคลมีความคิดความฉลาดหนักแน่นในเหตุผลและความสุจริตละเอียดรอบคอบรู้จักรับผิดชอบ รู้จักตัดสินใจตามทางที่ถูกต้องเป็นธรรม และสำคัญอย่างยิ่ง ก็คือมีความขยันหมั่นเพียรอุตสาหะขวนขวายที่จะลงมือทำการทุกอย่างไม่ว่าเล็กใหญ่ง่ายยากด้วยตนเอง...”

34

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันพฤหัสบดี ที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๒๒

“...คนไม่มีความสุจริต คนไม่มีความมั่นคง ชอบแต่มักง่าย ไม่มีวันจะสร้างสรรค์ประโยชน์ส่วนรวมที่สำคัญอันใดได้ ผู้ที่มีความสุจริตและความมุ่งมั่นเท่านั้น จึงจะทำงานสำคัญยิ่งใหญ่ที่เป็นคุณเป็นประโยชน์แท้จริงได้สำเร็จ...”

35

พระราชดำรัส ในโอกาสที่คณะผู้อำนวยการและอาจารย์ใหญ่จากโรงเรียนต่าง ๆ

ในเขตอำเภอดุสิต “กลุ่มจิตรลดา” เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศล ตามพระราชอัธยาศัย

ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันอังคาร ที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๒๓

“...ผู้ที่มีความสุจริตและบริสุทธิ์ใจ แม้จะมีความรู้น้อยก็ย่อมทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมได้มากกว่าผู้มีความรู้มากแต่ไม่มีความสุจริตไม่มีความบริสุทธิ์ใจ...”

36

พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะครูและนักเรียนโรงเรียนจิตรลดา

ณ ห้องประชุมโรงเรียนจิตรลดา วันพฤหัสบดี ที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๒๓

“...ความรู้ที่สะสมเอาไว้ในตัวเป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นเหมือนประทีปสำหรับนำทางเราไปในการปฏิบัติตนในชีวิต จะเป็นการศึกษาต่อก็ตาม หรือจะเป็นการไปประกอบอาชีพการงานก็ตาม ความรู้นั้นจะเป็นเครื่องนำทางไปสู่ความเจริญ ความรู้ทางวิชาการก็จะสามารถให้ประกอบอาชีพการงานที่มีประสิทธิภาพ เท่ากับเป็นสิ่งที่จะเลี้ยงตัวเลี้ยงกายเราความรู้ในทางการประพฤติที่ดี จิตใจที่เข้มแข็ง ที่ซื่อสัตย์สุจริตนั้น จะนำเราไปได้ทุกแห่งเพราะเหตุว่าผู้ที่มีความซื่อสัตย์สุจริต ผู้มีความขยันหมั่นเพียร ผู้มีความตั้งใจที่แน่วแน่นั้นไม่มีทางที่จะล่มจม...”

37

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ประจำปีการศึกษา ๒๕๒๒ ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

วันพฤหัสบดี ที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๒๓

“...การสร้างสรรค์ประโยชน์ต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นนั้น จะต้องทำเพื่อผู้อื่นและส่วนรวม นอกจากตนเองด้วย ยิ่งทำให้กว้างขวางได้เท่าใดก็ยิ่งดีขึ้นเท่านั้น เพราะประโยชน์ที่ถูกต้องแท้จริงในโลก มีสองประการคู่กันเสมอ คือ ประโยชน์ส่วนตัวกับประโยชน์ส่วนรวม คนที่มุ่งแต่ประโยชน์ส่วนตัว จัดว่าเป็นคนไม่สามารถแท้ซึ่งใคร ๆ ก็ตาม จะไม่สรรเสริญ ขอให้พยายามร่วมกันทำตัวทำงานให้ได้ดังที่กล่าว ผลดีที่ทุกคนมุ่งประสงค์จะเกิดแก่ชาติบ้านเมืองของเราได้มากมายเกินกว่าที่คาดคิด...”

38

พระราชดำรัส พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในวันฉลองครบรอบ ๓๐ ปี

และเปิดประชุมใหญ่ ครั้งที่ ๑๓ ขององค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ณ ตึกรัฐสภา กรุงเทพมหานคร

วันเสาร์ ที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๓

“...ผู้นับถือพระพุทธศาสนา ไม่ว่าเป็นชาติเชื้อใดและแม้อยู่ในนิกายใด ล้วนถือทางปฏิบัติในกายวาจาใจเป็นอย่างเดียวกัน คือย่อมพยายามอยู่ทุกเมื่อที่จะรักษากายวาจาให้สะอาดด้วยระเบียบปฏิบัติอันดีงามและสุจริตที่จะควบคุมประคองใจให้สงบด้วยความมีสติรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา...”

39

พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะบุคคลที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล

เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย

วันพฤหัสบดี ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๒๓

“...ความซื่อสัตย์สุจริตความดีความเผื่อแผ่นั้น ต้องทำความฉลาดต้องตระหนักต้องพิจารณาว่าคืออะไร เราทำอะไรต้องรู้ว่าไม่เบียดเบียนเพื่อนมนุษย์ไม่เบียดเบียนเพื่อนร่วมชาติแล้วงานที่ตนทำก็จะเป็นงานที่ดีงานที่สุจริต...”

40

พระบรมราโชวาท พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในการเปิดประชุมใหญ่ ของสมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักร ครั้งที่ ๒๘

วันเสาร์ ที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๒๓

“...พุทธธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาแสดงความจริงแท้ที่เห็นแจ้งโดยปัญญาของพระอริยะ. จึงเป็นคำสอนอย่างประเสริฐที่จะพึงศึกษาให้เห็นให้เข้าใจตามด้วยการเพ่งพินิจมิใช่เข้าใจเอาง่าย ๆ โดยไม่อาศัยความพิจารณาไตร่ตรองให้ทั่วถึง เพราะหาไม่จะกลายเป็นความรู้ผิด เห็นผิด เป็นธรรมะปฏิรูปไป. ท่านทั้งหลายมาร่วมกันปฏิบัติงานด้านส่งเสริมทำนุบำรุงพระศาสนาตลอดจนศีลธรรมจรรยาของประชาชน ย่อมมีหน้าที่ต้องศึกษาธรรมปฏิบัติธรรม และเผยแพร่ธรรมอยู่ตลอดเวลา. สมควรอย่างยิ่งที่จะศึกษา ปฏิบัติและเผยแพร่ด้วยความระมัดระวังตั้งใจอย่างที่สุดเพื่อให้ได้เนื้อแท้ที่เที่ยงตรงตามพุทธบัญญัติและพุทธาธิบาย. การบำเพ็ญกรณียกิจของท่านในด้านจรรโลงพระศาสนาจึงจะอำนวยผลอันบริสุทธิ์และบริบูรณ์ทุกแง่ทุกส่วนตามศรัทธาและความปรารถนาที่ตั้งไว้...”

41

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยรามคำแหง

ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร วันเสาร์ ที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๒๔

“...ความจริงใจต่อผู้อื่นเป็นของสำคัญมาก สำหรับผู้ที่ต้องการความสำเร็จและความเจริญเพราะสามารถกำจัดปัญหาได้มากมายโดยเฉพาะปัญหาอันเกิดจากความกินแหนงแคลงใจ เอารัดเอาเปรียบกัน และคนที่จริงใจต่อผู้อื่นนั้น ย่อมได้รับความนิยมเชื่อถือไว้วางใจ ร่วมมือสนับสนุนจากสาธุชนอยู่เสมอ จะทำการสิ่งใดก็สำเร็จและราบรื่น ท่านจึงสอนให้รักษาความจริงใจในกันและกันไว้ทุกเมื่อ นอกจากความจริงใจต่อผู้อื่นแล้ว ยังมีความจริงใจต่อตนเองอีกประการหนึ่งซึ่งจะต้องรักษาให้มั่นคงและให้ยิ่งขึ้นไป...”

42

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยรามคำแหง

ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร วันจันทร์ ที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๒๔

“...จิตใจที่ต่ำทรามนั้นเป็นจิตใจที่อ่อนแอ ไม่กล้าและไม่อดทนที่จะเพียรพยายามสร้างสมความดีงามความเจริญความสำเร็จในทางที่ถูกต้องเป็นธรรมมีแต่คิดจะให้ได้มาโดยสะดวกง่ายดาย โดยไม่คำนึงถึงผิดชอบชั่วดี จิตใจดังนี้ ถ้าปล่อยให้เกิดมีขึ้นจนเคยชิน อย่างน้อยที่สุด ก็ทำให้เป็นคนมักง่ายทำงานบกพร่องเสียหาย อย่างมากก็ทำให้เป็นคนด้านหน้าไร้ความอาย หยาบคาย ละโมบ ทำอะไรที่ไหน ก็เกิดอันตรายที่นั่นท่านจึงสอนให้สังวรระวังใจของตนให้ดี อย่าให้ความชั่วเกิดขึ้น และหากเกิดขึ้นแล้ว ก็ให้กำจัดเสียทันที...”

43

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานกระบี่ และปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษา

จากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนนายเรือ และโรงเรียนนายเรืออากาศ วันพุธ ที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๒๔

“...วินัย แท้จริงมีอยู่สองอย่าง อย่างหนึ่งคือวินัยตามที่ทราบกันและถือกัน อันได้แก่ข้อปฏิบัติที่บัญญัติไว้เป็นกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ให้ถือปฏิบัติอีกอย่างหนึ่งคือวินัยในตนเอง ที่แต่ละคนจะต้องบัญญัติขึ้นสำหรับควบคุมบังคับให้มีความจริงใจ และให้ประพฤติปฏิบัติตามความจริงใจนั้นอย่างมั่นคงมีลักษณะเป็นสัจจาธิษฐานหรือการตั้งสัตย์สัญญาให้แก่ตัววินัยอย่างนี้จัดเป็นตัววินัยแท้ เพราะให้ผลจริงและแน่นอนยิ่งกว่าวินัยที่เป็นบทบัญญัติ ทั้งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเกื้อกูลให้การถือการใช้วินัยที่เป็นบทบัญญัตินั้นได้ผลเที่ยงตรง ถูกต้อง สมบูรณ์เต็มเปี่ยมตามเจตนารมณ์...”

44

พระบรมราโชวาท พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในพิธีเปิดการประชุมยุวพุทธิกสมาคมทั่วประเทศ ครั้งที่ ๑๖

ณ วัดคีรีวงศ์ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ วันเสาร์ ที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๒๔

“...พระพุทธศาสนามีธรรมะอยู่มากมายหลายชั้นอันพอเหมาะพอดีกับอัธยาศัยจิตใจของบุคคลประเภทต่าง ๆ สำหรับเลือกเฟ้นมาแนะนำสั่งสอนขัดเกลาความประพฤติปฏิบัติของบุคคลให้ดีขึ้นเจริญขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ. กล่าวโดยหลักใหญ่แล้วคือสอนให้เป็นคนดี ให้ประพฤติประโยชน์ ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นให้ลำบากเสียหายสอนให้รู้จักตนเองรู้จักฐานะของตนพร้อมทั้งรู้จักหน้าที่ที่จะต้องประพฤติปฏิบัติในฐานะนั้นๆซึ่งเมื่อปฏิบัติโดยถูกต้องครบถ้วนแล้วย่อมจะนำความสุขนำความเจริญสวัสดีมาให้ได้ทั่วถึงกันหมดหรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง ก็คือนำความสุข ความร่มเย็นและความวัฒนาถาวรให้เกิดแก่สังคมมนุษย์. หน้าที่ของท่านทั้งหลายอยู่ที่จะต้องพยายามศึกษาพิจารณาธรรมะ แต่ละข้อแต่ละหมวดหมู่ ด้วยความละเอียดรอบคอบ ด้วยความเที่ยงตรงเป็นกลาง ให้เกิดความกระจ่างแจ้งลึกซึ้งถึงเหตุ ถึงผล ถึงวัตถุประสงค์แล้วนำไปปฏิบัติเผยแพร่ให้พอเหมาะพอดี โดยอุบายที่ฉลาดแยบคาย. ธรรมะในพระพุทธศาสนาจะสามารถคุ้มครองรักษาและอุ้มชูประคับประคองสังคมให้ผาสุกร่มเย็นได้สมดังที่ต้องการ...”

45

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา

จากวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร

วันพุธ ที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๒๔

“...ประโยชน์หรือการสร้างสรรค์ในทางที่ดีนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการลงมือทำ หมายความว่าจะต้องนำความรู้ความสามารถที่มีอยู่นั้นมาใช้งาน ลงมือใช้เมื่อไร เพียงใด ประโยชน์ก็เกิดเมื่อนั้น เพียงนั้น เมื่อยังไม่ลงมือทำ ประโยชน์ก็ยังไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นถึงหากจะมีความรู้ความสามารถมากมายสักเพียงใด ถ้าไม่นำมาลงมือทำ ก็ปราศจากประโยชน์บ้านเมืองของเราในเวลานี้อยู่ในสภาวะที่ต้องพัฒนาหรือปรับปรุงตัวเองอย่างรวดเร็วในทุก ๆทาง เพื่อให้สามารถก้าวไปทันผู้อื่นเขาได้อย่างมั่นคงและปลอดภัย ทุกคน โดยเฉพาะผู้มีความรู้จึงต้องขวนขวายทำงานให้เต็มกำลัง...”

46

พระบรมราโชวาท พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในการเปิดประชุมใหญ่ ของสมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักร ครั้งที่ ๒๙

วันเสาร์ ที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๒๔

“...ธรรมะในพระพุทธศาสนามีความหมดจดบริสุทธิ์และสมบูรณ์บริบูรณ์ด้วยเหตุผลซึ่งบุคคลสามารถจะศึกษาและปฏิบัติด้วยปัญญาความเพ่งพินิจ ให้เกิดประโยชน์คือความเจริญผาสุกแก่ตนได้อย่างเที่ยงแท้ ตั้งแต่ประโยชน์ขั้นพื้นฐาน คือการตั้งตัวได้เป็นปรกติสุขจนถึงประโยชน์ขั้นประมัตถ์คือหลุดพ้นจากเครื่องเกาะเกี่ยวร้อยรัดทุกประการ...”

47

พระราชดำรัส พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในพิธีเปิดสัมมนาของสภายุวพุทธิกสมาคมแห่งชาติฯ

ในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี ณ ศาลาธรรมชินราชปัญจบพิธ วัดเบญจมบพิธฯ

วันเสาร์ ที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๒๕

“...พระพุทธศาสนานั้น ถ้าหมายถึงคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแท้ ๆแล้ว ก็หาภัยอันตรายมิได้ ไม่มีผู้ใดหรือเหตุใด ๆ จะเบียนบ่อนทำลายได้เลย เพราะคำสั่งสอนของพระบรมศาสดาเป็นธรรมะคือหลักความจริงที่คงความจริงอยู่ตลอดกาลทุกเมื่อไม่มีแปรผัน. ดังนั้น การป้องกันภัยให้แก่พระพุทธศาสนาก็ดีการทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาก็ดี พูดให้ตรง จึงน่าจะหมายถึงการป้องกันภัยให้แก่พุทธบริษัทและการทำนุบำรุงพุทธ-บริษัทยิ่งกว่าอื่น...” “...ทุกคนที่ถือตัวว่าเป็นพุทธศาสนิกชนจะต้องศึกษาพระพุทธ-ศาสนาตามภูมิปัญญาความสามารถและโอกาสของตนๆที่มีอยู่เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องกระจ่างชัดขึ้นในหลักธรรม. เมื่อศึกษาเข้าใจแล้ว เห็นประโยชน์แล้วก็น้อมนำมาปฏิบัติทั้งในการดำเนินชีวิตประจำวันและการงานของตน เพื่อให้เกิดความสุขความสงบร่มเย็นและความเจริญงอกงามในชีวิตเพิ่มพูนขึ้นเป็นลำดับ ตามขีดความประพฤติปฏิบัติของแต่ละคน. ถ้าชาวพุทธรู้ธรรมะ ปฏิบัติธรรมะอย่างถูกต้องทั่วถึงกันมากขึ้นปฏิบัติการบ่อนเบียนพระศาสนาให้เศร้าหมองก็จะลดน้อยลง เพราะทุกวันนี้ที่เกิดความเสื่อมความเสียหาย ก็มิใช่ผู้ใดใครอื่นทำให้. เป็นเรื่องที่ชาวพุทธผู้ไม่รู้ไม่เข้าใจและไม่ปฏิบัติตามธรรมะทำขึ้นเกือบทั้งนั้น...”

48

พระราชดำรัส ในพระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า

ณ ท้องสนามหลวง วันจันทร์ ที่ ๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๒๕

“...การรักษาอิสรภาพและความเป็นไทยให้ดำรงมั่นคงยืนยาวไป ถือว่าเป็นกรณียกิจอันสำคัญสูงสุด. นอกจากต้องอาศัยการบริหารประเทศที่ฉลาดสามารถ และสุจริตเป็นธรรมแล้ว ยังต้องอาศัยความร่วมสนับสนุนจากประชาชนทั้งประเทศด้วย. คือประชาชนแต่ละคนจะต้องขวนขวายสร้างสรรค์ประโยชน์ และดำรงอยู่ในคุณธรรมอันสมควรแก่ฐานะของตนๆ.คุณธรรมที่ทุกคนควรจะศึกษาและน้อมนำมาปฏิบัติมีอยู่สี่ประการ.ประการแรกคือการรักษาความสัจ ความจริงใจต่อตัวเอง ที่จะประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม. ประการที่สอง คือการรู้จักข่มใจตนเองฝึกใจตนเองให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในความสัจความดีนั้น. ประการที่สาม คือการอดทน อดกลั้น และอดออม ที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัจสุจริต ไม่ว่าจะด้วยเหตุประการใด. ประการที่สี่ คือการรู้จักละวางความชั่ว ความทุจริต และรู้จักสละประโยชน์ส่วนน้อยของตนเพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง. คุณธรรมสี่ประการนี้ ถ้าแต่ละคนพยายามปลูกฝังและบำรุงให้เจริญงอกงามขึ้นโดยทั่วกันแล้วจะช่วยให้ประเทศชาติบังเกิดความสุขความร่มเย็นและมีโอกาสที่จะปรับปรุงพัฒนาให้มั่นคงก้าวหน้าต่อไปได้ดังประสงค์...”

49

พระราชดำรัส สำหรับอัญเชิญไปอ่านในพิธีเปิดการสัมนาผู้นำศาสนา

ในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี ณ หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วันเสาร์ ที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๒๕

“...ปัญหายุ่งยากในสังคมทุกวันนี้เกิดจากเหตุหลายอย่าง. แต่เหตุสำคัญที่ก่อปัญหาให้มาก คือความขาดหรือความบกพร่องในความเป็นระเบียบและความสะอาดมั่นคงในความประพฤติและความคิดจิตใจของบุคคล.องค์การศาสนาทุกศาสนามีจุดมุ่งหมายและภารกิจในการขัดเกลาความประพฤติและจิตใจ ให้บุคคลถึงพร้อมด้วยคุณธรรมและจริยธรรมตามหลักศาสนาอยู่แล้วจึงน่าจะทำหน้าที่แก้ปัญหาสังคมได้เป็นอย่างดีโดยไม่ยากลำบาก.ในการนี้ ทุกฝ่ายควรจะได้ร่วมมือกันและส่งเสริมกันอย่างจริงจังโดยประสานสอดคล้อง และควรมีหลักมีแผนการที่แน่นอนเหมาะสมในการสั่งสอนเผยแพร่ธรรม. สำคัญที่สุด ควรจะได้พยายามปลูกฝังความเชื่อความเลื่อมใสในคุณธรรมความดี ให้เกิดขึ้นด้วยการประพฤติปฏิบัติเป็นตัวอย่าง ให้คนทั้งหลายได้เห็นประโยชน์และความดีจากแบบแผนการปฏิบัติและการอธิบายแนะนำที่ประกอบด้วยความเมตตาการุญ และควรระมัดระวังอย่างที่สุด ที่จะไม่ประกาศสั่งสอนโดยวิธีการที่จะก่อให้เกิดความคิดโต้แย้งหรือต่อต้านขึ้นในตัวผู้ฟัง เพราะการกระทำดังนั้นจะไม่ช่วยให้บังเกิดผลดีขึ้นได้เลย...”

50

พระบรมราโชวาท พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในการเปิดประชุมใหญ่ ของสมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักร ครั้งที่ ๓๐

วันเสาร์ ที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๒๕

“...พระพุทธศาสนาวางแนวทางการศึกษาธรรมะเพื่อให้ประสบผลที่แท้จริงแน่นอนไว้ว่า บุคคลจะต้องศึกษาทั้งด้านปริยัติและด้านปฏิบัติประกอบพร้อมกันไป โดยกระทำให้หนักแน่นได้สัดส่วนกันทั้งสองด้าน จึงจะเกิดปฏิเวธ คือได้รับและได้เห็นผลของธรรมะนั้น ๆ เป็นที่ประจักษ์ตาประจักษ์ใจ. โดยนัยนี้ ตราบใดที่เรียนรู้แต่ไม่ประจักษ์ในผล ก็เรียกว่าบุคคลยังเรียนไม่สำเร็จ ยังไม่ได้ประโยชน์จากธรรมะอยู่ตราบนั้น และจะนำธรรมะไปแนะนำสั่งสอนหรือเผยแผ่แก่ใครไม่ได้จริง. ธรรมะขั้นใดระดับใดก็ตาม จำต้องศึกษาให้ทราบด้วยต้องนำไปปฏิบัติด้วยกาย วาจาใจให้ได้รับผลปฏิบัติด้วยผู้ศึกษาจึงจะเกิดปัญญารู้ชัดแจ้งในธรรมะนั้นได้. เพราะฉะนั้น นอกจากจะศึกษาธรรมะอย่างนักวิชาการหรือนักปริยัติแล้วท่านทั้งหลายควรจะได้ศึกษาอย่างนักปฏิบัติอีกสถานหนึ่งพร้อมๆกันไปจักได้เข้าถึงธรรมะจริง ๆ จักได้รู้ได้เชื่อมั่นในธรรมะอย่างแน่วแน่ สมควรแก่หน้าที่ผู้เผยแผ่ศีลธรรมจรรยาและส่งเสริมทำนุบำรุงพระศาสนาอย่างแท้เที่ยง...”

51

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา

ประจำปีการศึกษา ๒๕๒๕ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วันพฤหัสบดี ที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๒๖

“...ความเจริญมั่นคงของส่วนรวมนั้นต้องอาศัยความเจริญมั่นคงของแต่ละบุคคลเป็นสำคัญ ดังนั้น ถ้าบุคคลอันเป็นองค์ประกอบของส่วนรวม ไม่มีความเจริญและมั่นคงแล้ว ส่วนรวมจะเจริญและมั่นคงไม่ได้...”

52

พระราชดำรัส ในการเสด็จออกมหาสมาคม

ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พุทธศักราช ๒๕๒๖ วันจันทร์ ที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๒๖

“...ไม่ว่าท่านจะมีภาระหน้าที่อันใดอยู่จะเป็นงานส่วนใหญ่ส่วนน้อยอย่างไรก็ตาม ควรจะต้องพยายามตั้งใจปฏิบัติให้ลุล่วงไปโดยพลัน โดยเต็มความสามารถ ปรารภประโยชน์ของชาติบ้านเมืองเป็นสำคัญ ด้วยสติที่ตั้งมั่นและด้วยปัญญาที่กระจ่างแจ่มใสปราศจากอคติ.เมื่อจะวินิจฉัยตัดสินปัญหาใดๆก็ให้กระทำด้วยเหตุผล และความสุขุมรอบคอบระมัดระวังเพื่อให้ภาระทุกอย่างที่ทำบรรลุผลสมบูรณ์ตามจุดประสงค์จักได้สำเร็จประโยชน์เป็นความเจริญมั่นคงแก่ประเทศชาติอย่างแท้จริงยั่งยืนไป...”

53

พระบรมราโชวาท พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในการเปิดประชุมใหญ่ ของสมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักร ครั้งที่ ๓๑

วันที่ ๑๖-๑๘ ธันวาคม ๒๕๒๖

“...การทำนุบำรุงและส่งเสริมพระศาสนานั้นไม่มีทางใดจะดีจะตรงจะสำคัญยิ่งไปกว่าการธำรงรักษาความบริสุทธิ์บริบูรณ์ของพระธรรมวินัย ทั้งในด้านปริยัติและในด้านปฏิบัติ.การส่งเสริมศีลธรรมจรรยาของประชาชน ควรจะคำนึงถึงพื้นฐานความรู้ จิตใจ และอัธยา-ศัยของบุคคลแต่ละคนแต่ละหมู่เหล่าเป็นพิเศษ. ต้องฉลาดเลือกข้อธรรมะที่เหมาะแก่พื้นฐานดังกล่าว และที่จะช่วยเขาให้ได้รับประโยชน์จริง ๆ นำมาอธิบายแนะนำให้ปฏิบัติ เพื่อผลที่รับนั้น จะทำให้เขาบังเกิดศรัทธาและพอใจในความดี แล้วน้อมนำมาปฏิบัติให้ยิ่งขึ้นหนักแน่นขึ้นด้วยตนเอง. ส่วนการรับใช้พระสงฆ์นั้นขอให้ถือหลักว่า การรับใช้ช่วยเหลือพระสงฆ์เพื่อให้ท่านสามารถประพฤติปฏิบัติตามสมควรแก่สมณสารูปได้ เป็นจุดหมายสำคัญและแท้จริงสำหรับพุทธมามกชนจะพึงกระทำถวายพระภิกษุสงฆ์...”

54

พระราชดำรัส ในโอกาสที่สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น พอล ที่ ๒

เข้าเฝ้าในโอกาสที่เสด็จมาเยือนประเทศไทย ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

วันพฤหัสบดี ที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๒๗

“...การที่ประเทศไทยและชาวไทยยินดีต้อนรับผู้เผยแผ่ศาสนาต่างๆด้วยไมตรีและด้วยความจริงใจฉันมิตรทุกสมัยมานั้น เป็นเพราะชาวไทยซึ่งเป็นพุทธมามกชนมีจิตสำนึกมั่นคงอยู่ในกุศลสุจริตและในความเมตตาการุญเห็นว่าศาสนาทั้งปวงย่อมสั่งสอนความดีให้บุคคลประพฤติปฏิบัติแต่ในทางที่ถูกที่ชอบที่เป็นประโยชน์ ให้ใฝ่หาความสงบสุขความผ่องใสให้แก่ชีวิต ทั้งเรายังมีเนติแบบธรรมเนียมให้ต้อนรับนับถือชาวต่างชาติต่างศาสนาด้วยความเป็นมิตรแผ่ไมตรีแก่กันด้วยเมตตาจิตและด้วยความจริงใจบริสุทธิ์ใจ มิให้ดูแคลนเบียดเบียนผู้ถือสัญชาติและศาสนาอื่น ด้วยจะเป็นเหตุนำความแตกร้าวและความรุนแรงเดือดร้อนมาให้.ดังนี้ คริสต์ศาสนาจึงเจริญงอกงามขึ้นได้ในประเทศนี้. ชาวไทยต่างรู้จักและเคารพยกย่ององค์พระสันตะปาปาประมุขแห่งชาวคาทอลิกอย่างสูง ในฐานะบุคคลสำคัญผู้หนึ่ง ผู้แผ่ความสงบร่มเย็นและความสว่างแจ่มใสแก่ชาวโลกถ้วนหน้า. เมื่อคราวที่ข้าพเจ้ามีโอกาสไปเยือนสำนักวาติกัน เมื่อปีคริสตศักราช๑๙๖๐สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์นที่๒๓ตรัสถามถึงคนไทยว่านับถือศาสนามากน้อยเพียงใด.ข้าพเจ้าได้ทูลตอบว่าคนไทยเป็นศาสนิกชนที่ดีทั่วกัน. ส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาประจำชาติ และนอกนั้นยังนับถือศาสนาอื่นอีกหลายศาสนา เพราะชาวเรามีอิสรภาพและสิทธิเสมอภาคกัน ทั้งโดยกฎหมายทั้งโดยประเพณีนิยม ในการนับถือศาสนา. สมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์นั้นทรงแสดงความชื่นชมยินดีกับข้าพเจ้าเป็นอันมาก ที่ประเทศไทยมีพลเมืองที่ดีมีศีลธรรมยึดความถูกต้องเที่ยงตรงเป็นหลักปฏิบัติ...”

55

พระบรมราโชวาท ในพิธีปฏิญาณตนและสวนสนาม

เนื่องในงานวันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ ณ สนามศุภชลาศัย สนามกีฬาแห่งชาติ วันอาทิตย์ ที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๒๗

“...การบำเพ็ญประโยชน์จะต้องทำที่ตัวเองก่อนด้วยการประพฤติดี เป็นต้นว่า รักษาระเบียบวินัย รักษาความสัตย์สุจริตขยันหมั่นเพียรปฏิบัติกิจการงานด้วยความเข้มแข็งหนักแน่น ให้จนติดเป็นนิสัย. ผลของการทำดี ที่เป็นตัวประโยชน์ ก็จะงอกงามขึ้นในตัวผู้ปฏิบัติอย่างเต็มเปี่ยม แล้วจะสะท้อนออกถึงผู้อื่น พลอยให้ผู้อื่นและส่วนรวมได้รับผลดีด้วย...”

56

พระบรมราโชวาท พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในการเปิดประชุมใหญ่ ของสมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักร ครั้งที่ ๓๒ ณ หอประชุมศรีเทพ โรงเรียนป่าไม้ จังหวัดแพร่

วันเสาร์ ที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๒๗

“...การปฏิบัติส่งเสริมและทะนุบำรุงพระศาสนานั้น แม้จะมีแง่มุมและรายละเอียดในเนื้อหาการปฏิบัติข้อปฏิบัติหรือในวิธีปฏิบัติอย่างไรก็ตามท่านทั้งหลายไม่ควรจะทิ้งหลักการข้อสำคัญที่ว่า เราจำเป็นต้องส่งเสริมการศึกษาและปฏิบัติธรรมะขั้นพื้นฐานให้มาก ทั้งนี้เพราะธรรมะขั้นพื้นฐานนั้นคนทั่วไปเรียนรู้ได้ง่าย เข้าใจได้ชัด และปฏิบัติได้ผลซึ่งย่อมทำให้เขาเหล่านั้นเห็นประโยชน์ของพระศาสนาว่าเมื่อได้เรียนรู้และปฏิบัติตามธรรมบัญญัติแม้เพียงเบื้องต้นเท่านี้ก็ยังได้รับประโยชน์คือมีความสุขความเจริญความร่มเย็นขึ้นมาทั้งในกายในใจในการครองชีวิตตลอดถึงในกิจการงาน...”

57

พระราชดำรัส พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๒๘

วันจันทร์ ที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๒๗

“...วิถีชีวิตมนุษย์นั้นจะให้มีแต่ความปรกติสุขอย่างเดียวไม่ได้จะต้องมีทุกข์มีภัยมีอุปสรรคผ่านเข้ามาด้วยเสมอยากจะหลีกเลี่ยงพ้น. ข้อสำคัญอยู่ที่ทุก ๆคนจะต้องเตรียมกาย เตรียมใจ และเตรียมการไว้ให้พร้อมทุกเวลา เพื่อเผชิญและแก้ไขความไม่ปรกติเดือดร้อนทั้งนั้นด้วยความไม่ประมาท ด้วยเหตุผล ด้วยหลักวิชา และด้วยสามัคคีธรรม จึงจะผ่อนหนักให้เป็นเบาและกลับร้ายให้กลายเป็นดีได้...”

58

พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่ข้าราชการพลเรือน เนื่องในวันข้าราชการพลเรือน

วันจันทร์ ที่ ๑ เมษายน ๒๕๒๘

“...การทำงานให้สำเร็จขึ้นอยู่กับความสามารถสองอย่างเป็นสำคัญ คือสามารถในการใช้วิชาความรู้อย่างหนึ่ง สามารถในการประสานสัมพันธ์กับผู้อื่นอีกอย่างหนึ่ง. ทั้งสองประการนี้ต้องดำเนินคู่กันไป และจำเป็นต้องกระทำด้วยความสุจริตกายสุจริตใจ ด้วยความคิดความเห็นที่เป็นอิสระปราศจากอคติ และด้วยความถูกต้องตามเหตุตามผลด้วยจึงจะช่วยให้งานบรรลุจุดหมายและประโยชน์ที่พึงประสงค์โดยครบถ้วนแท้จริง...”

59

พระบรมราโชวาท พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในการเปิดประชุมใหญ่ ของสมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักร ครั้งที่ ๓๓

ณ ตึกธรรมวิจัย วัดราษฎร์บูรณะคุณาราม (เขาสุกิม) จังหวัดจันทบุรี วันศุกร์ ที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๒๘

“...พระพุทธศาสนาคือศาสนาแห่งประโยชน์ไม่ว่าผู้ใด ถ้าเข้ามาศึกษาและปฏิบัติตามคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมได้รับประโยชน์ตามวิสัยแห่งการศึกษาปฏิบัติของเขา. การธำรงความเจริญมั่นคงของพระศาสนาจึงน่าจะเน้นที่การแนะนำทำให้เป็นประโยชน์ของการศึกษาปฏิบัติธรรมเป็นสำคัญ. เมื่อมีผู้ศึกษาปฏิบัติธรรมและได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติธรรมมากขึ้นพระศาสนาก็เจริญแพร่หลายไปพร้อมกัน. ข้อสำคัญควรจะถือปฏิบัติให้เคร่งครัดหนักแน่นว่า ต้องแสดงธรรมะให้บริสุทธิ์บริบูรณ์อย่าให้วิปริตแปรผัน และควรพยายามเน้นการศึกษาปฏิบัติธรรมขั้นพื้นฐานให้ยิ่งกว่าอื่น เพราะคนทั่วไปต้องการที่จะเรียนรู้ได้ง่าย เข้าใจได้ชัด ปฏิบัติได้สะดวก. เมื่อประโยชน์แห่งการปฏิบัติธรรมเกิดขึ้นแล้ว เขาก็จะพึงพอใจและจะขวนขวายศึกษาปฏิบัติให้สูงขึ้นไปเอง. และเมื่อชาวพุทธรู้ธรรมะปฏิบัติธรรมะกันอย่างถูกต้องทั่วถึงมากขึ้นดังนี้ การบ่อนเบียนพระศาสนาก็จะลดน้อยลง พระศาสนาก็จะเจริญมั่นคงตามที่ท่านทั้งหลายปรารถนา…”

60

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันพฤหัสบดี ที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๒๘

“...การจะไปให้ถึงจุดหมาย จึงต้องใช้ความสามารถและความรอบคอบระมัดระวังมาก ตั้งแต่เริ่มต้น ตลอดไปจนถึงที่สุด. แรกเริ่ม ก็ต้องพิจารณาหาทางที่ถูกและที่เหมาะที่สุดเป็นทางเดิน เมื่อไปถึงทางแยกทางร่วม ที่จะเดินไปได้เป็นสองทางสามทาง ก็ต้องใช้ความรู้ความฉลาดตัดสินว่าควรจะเลือกไปทางไหนจึงจะสะดวกปลอดภัยไปถึงที่หมาย...”

61

พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล

ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย

วันพุธ ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๒๘

“...สามัคคีที่ถูกต้อง ไม่ใช่สามัคคีเฮโลกันไปสามัคคีนี้บางทีก็ใช้ในทางผิดก็ได้ ถ้าใช้ในทางผิดก็มีหวังที่มีการปะทะกัน แต่สามัคคีในทางที่ถูกนั้นต้องอาศัยกำลังใจของแต่ละคนที่ทำอะไรหรือคิดอะไรในทางที่ถูก ที่ถูกหลักเหตุผลและประกอบด้วยเมตตา ถ้าหากว่าบุคคลมีจิตใจที่ดีและหมู่คณะมีความสามัคคีที่ดีอาศัยใจที่มีเหตุผลดังกล่าวก็ทำให้หมู่คณะอยู่ดีได้ แต่ว่าต้องระวังคำว่าสามัคคีในหมู่คณะเพราะว่าถ้าหากว่ามีกำลังที่ไปในทางที่ไม่ดี คือหมายความว่าคิดไม่รอบคอบหรือมีเหตุผลไม่ถูกต้อง ก็ทำให้ความสามัคคีนั้นกลายเป็นสามัคคีที่ไม่ถูกต้อง สามัคคีที่พาให้ตีกันถ้าหากว่าเป็นเช่นนั้นก็ไม่ดี...”

62

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานกระบี่และปริญญาบัตรแก่ว่าที่ร้อยตำรวจตรี

ที่สำเร็จการศึกษาชั้นสูงสุดจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ประจำปีการศึกษา ๒๕๒๘

พระราชทานประกาศนียบัตรกับเข็มพิทักษ์ชนาธิปัตย์แก่ ผู้สำเร็จการศึกษาอบรมหลักสูตรการบริหารงานตำรวจชั้นสูง รุ่นที่ ๒

พระราชทานประกาศนียบัตรกับเข็มสันติพิทักษ์แก่ ผู้สำเร็จการศึกษาอบรมหลักสูตรผู้กำกับการ รุ่นที่ ๗

และพระราชทานประกาศนียบัตรกับเข็มพิทักษาธิปัตย์แก่ ผู้สำเร็จการศึกษาอบรมหลักสูตรฝ่ายอำนวยการตำรวจ ชุดที่ ๘

ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร วันจันทร์ ที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๒๙

“...การทำความดีนั้น โดยมากเป็นการเดินทวนกระแสความพอใจและความต้องการของมนุษย์ จึงทำได้ยาก และเห็นผลช้า แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะหาไม่ ความชั่ว ซึ่งทำได้ง่ายจะเข้ามาแทนที่แล้วจะพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันรู้สึกตัว...”

63

พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล

ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย

วันพฤหัสบดี ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๒๙

“...คำว่าดีคำว่าชั่วนี้ยากที่จะวิเคราะห์ศัพท์ว่าแปลว่าอะไร เพราะว่าความดีความชั่วนั้นรู้ยาก แต่เมื่อทราบจากความคิดทั่ว ๆ ไปว่าอันนี้ดีก็น่าจะทำดี ทราบว่าอะไรอันนี้ไม่ดีก็น่าจะพยายามปฏิบัติเว้น...”

64

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรกิตติมศักดิ์และพระราชทานปริญญาบัตร

แก่ผู้ที่สำเร็จการศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

วันเสาร์ ที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๓๐

“...ผู้ที่มุ่งหวังความดีและความเจริญมั่นคงในชีวิต จะต้องไม่ละเลยการศึกษา.ความรู้ที่จะศึกษามีอยู่สามส่วน คือความรู้วิชาการ ความรู้ปฏิบัติการ และความรู้คิดอ่านตามเหตุผลความเป็นจริง ซึ่งแต่ละคนควรเรียนรู้ให้ครบ เพื่อสามารถนำไปใช้ประกอบกิจการงานและแก้ปัญหาทั้งปวงได้อย่างมีประสิทธิภาพ. อีกประการหนึ่ง จะต้องมีความจริงใจและบริสุทธิ์ใจ ไม่ว่าในการงาน ในผู้ร่วมงาน หรือในการรักษาระเบียบแบบแผนความดีงาม ความถูกต้องทุกอย่าง เพราะความจริงใจนี้เป็นปัจจัยสำคัญยิ่ง ในการผดุงและสร้างเสริมความมีสมานฉันท์ ความประสานสามัคคี และความเป็นปึกแผ่นมั่นคงของส่วนรวม. ประการที่สาม จำเป็นต้องสำรวจดูความบกพร่องของตนเองอยู่สม่ำเสมอแล้วพยายามปฏิบัติแก้ไขเสียโดยเร็ว ไม่ปล่อยให้เจริญเติบโตทำความเสื่อมเสียแก่การกระทำและความคิด ประการที่สี่ ต้องฝึกฝนให้มีความสงบหนักแน่น ทั้งในกาย ในใจในคำพูด เพราะความสงบหนักแน่นเป็นเครื่องผ่อนปรนระงับความรุนแรง ความขัดแย้งความไม่เข้าใจในกันและกันได้ทุกกรณี...”

65

พระบรมราโชวาท พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในพิธีเปิดการประชุมยุวพุทธิกสมาคมทั่วประเทศ

ครั้งที่ ๑๘ ณ สถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน สำนักงาน ก.พ.

วันเสาร์ ที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๓๐

“...การสร้างสรรค์แผ่นดินไทยให้เป็นแผ่นดินทองหรือการช่วยตัวเองในปัจจุบันนี้ เห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความสงบให้เกิดขึ้นก่อนโดยเร็ว เพราะถ้าความสงบยังไม่เกิด เราจะคิดอ่านแก้ปัญหา หรือจะรวมกำลังกันทำการงานช่วยตัวเองได้ไม่...”

66

พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่ข้าราชการพลเรือน เนื่องในวันข้าราชการพลเรือน

วันพุธ ที่ ๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๓๐

“...ข้าราชการที่สามารถต้องมีความรู้ครบสามส่วน คือความรู้วิชาการ ความรู้ปฏิบัติการ และความรู้คิดอ่านตามเหตุผลตามความเป็นจริง ต้องมีความจริงใจและความบริสุทธิ์ใจในงาน ในผู้ร่วมงาน ในการรักษาระเบียบแบบแผน ความดีงามความถูกต้องทุกอย่างในแผ่นดิน ต้องมีความสงบและหนักแน่นทั้งในกาย ในใจ ในคำพูด ต้องสำรวจดูความบกพร่องของตนเองอยู่สม่ำเสมอ แล้วปฏิบัติแก้ไขเสียโดยเร็ว ไม่ปล่อยให้เจริญงอกงามทำความเสียหายให้แก่การกระทำความคิดและการงาน...”

67

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันเสาร์ ที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๓๐

“...หลักการสำคัญประการหนึ่งที่จะส่งเสริมให้ปฏิบัติงานสำเร็จและเจริญก้าวหน้าได้แท้จริง คือการไม่ทำตัวทำความคิดให้คับแคบ หากให้มีเมตตาและไมตรี ยินดีประสานสัมพันธ์กับผู้อื่นโดยเฉพาะผู้ร่วมงานอย่างจริงใจ...”

68

พระบรมราโชวาท พระราชทานเพื่อเชิญลงพิมพ์ในหนังสือวันเด็ก

ปีพุทธศักราช ๒๕๓๑

“...ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นพื้นฐานของความดีทุกอย่าง. เด็ก ๆ จึงต้องฝึกฝนอบรมให้เกิดมีขึ้นในตนเองเพื่อจักได้เติบโตขึ้นเป็นคนดีมีประโยชน์และมีชีวิตที่สะอาดที่เจริญมั่นคง...”

69

พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่ข้าราชการพลเรือน เนื่องในวันข้าราชการพลเรือน

วันศุกร์ ที่ ๑ เมษายน ๒๕๓๑

“...เกียรติและความสำเร็จเกิดจากผลการปฏิบัติงานและปฏิบัติตัวของแต่ละคนที่สามารถปฏิบัติงานในความรับผิดชอบให้ได้ผลสมบูรณ์ตามวัตถุประสงค์ และปฏิบัติตัวให้สุจริตเที่ยงตรงพอควรพอดีแก่ตำแหน่งหน้าที่ที่ดำรงอยู่...”

70

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล

ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร วันพฤหัสบดี ที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๓๑

“...แต่ละคนจะต้องสร้างความสำเร็จให้แก่ตนเองให้สมบูรณ์ ทั้งด้านงานอาชีพ ทั้งด้านเกียรติคุณความดี และด้านบำเพ็ญประโยชน์เกื้อกูลส่วนรวมและชาติบ้านเมือง. การสร้างความสำเร็จดังกล่าวจำต้องอาศัยปัจจัยประกอบพร้อมกันอย่างน้อยสามส่วน. ส่วนแรก ได้แก่ความรู้ความสามารถทางวิชาการ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักสำหรับนำมาให้ปฏิบัติงาน. ส่วนที่สอง ได้แก่จิตใจที่มีสุขภาพสมบูรณ์ และมีความเข้มแข็งหนักแน่นในเหตุผล ในความสุจริตถูกต้อง ในหน้าที่ความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นปัจจัยส่วนพื้นฐานที่จะรองรับวิชาความรู้และความคิดอ่านทั้งปวงไว้ให้มั่นคง มิให้หวั่นไหวและผันแปรไปในทางเสื่อมเสียหาย. ส่วนที่สาม ได้แก่ ความรอบรู้ และความคิดอ่านที่กว้างไกลมีหลักเกณฑ์กับทั้งความเฉลียวฉลาดคล่องตัวในการติดต่อประสานงานประสานประโยชน์กับทุก ๆ ฝ่าย ซึ่งเป็นปัจจัยส่วนที่จะส่งเสริมให้สามารถปฏิบัติภารกิจทุกด้านได้โดยราบรื่นรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ. ปัจจัยทั้งสามส่วนนี้ เมื่อประกอบพร้อมกันได้ครบถ้วนย่อมบันดาลให้การงานทั้งปวงไม่ว่าเล็กใหญ่ง่ายยาก สำเร็จผลที่พึงประสงค์ได้ทุกอย่าง...”

71

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ วันพุธ ที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๓๑

“.. .ผู้ที่จะสร้างความสำเร็จในการงานและชีวิตได้แน่นอนนั้น ควรมีคุณสมบัติประกอบพร้อมกันอย่างน้อย ๕ประการ. ประการแรก ควรจะต้องมีความสุจริต ความมีใจจริง ความตั้งใจจริง ความอุตสาหะอดทน และความเมตตาเสียสละ เป็นพื้นฐานด้านจิตใจ. ประการที่สองควรจะต้องมีวิชาความรู้ที่ถูกต้อง แม่นยำ ชำนาญ พร้อมทั้งมีฝีมือหรือความสามารถในเชิงปฏิบัติ เป็นเครื่องมือสำหรับประกอบการ. ประการที่สาม ควรจะต้องมีสติความยั้งคิด และวิจารญาณอันถี่ถ้วนรอบคอบ เป็นเครื่องควบคุมกำกับให้ดำเนินงานไปได้โดยถูกต้อง เที่ยงตรงตามทิศทาง. ประการที่สี่ จะต้องมีความรอบรู้ มีความสามารถประสานงานและประสานประโยชน์กับผู้อื่นอย่างกว้างขวาง เป็นเครื่องส่งเสริมให้ทำงานได้คล่องตัวและก้าวหน้า. และประการที่ห้า ซึ่งสำคัญที่สุด จะต้องมีความฉลาดรู้ในเหตุในผล ในความผิดถูกชั่วดี ในความพอเหมาะพอสม เป็นเครื่องตัดสินและสั่งการปฏิบัติงานทั้งมวลให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ...”

72

พระบรมราโชวาท สำหรับเชิญไปอ่านเนื่องในการเปิดประชุมใหญ่

ของสมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักร ครั้งที่ ๓๕ ณ ศูนย์การบินทหารบก จังหวัดลพบุรี ระหว่างวันที่ ๕-๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๑

“...พุทธภาษิตข้อหนึ่งที่ว่า“ผู้ใดเข้าใจสิ่งที่ไม่เป็นสาระว่าเป็นสาระ และเห็นสิ่งที่เป็นสาระว่าไม่เป็นสาระ ผู้นั้นมีความดำริผิดเป็นโคจร จึงไม่ประสบสิ่งที่เป็นสาระได้เลย”. ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นพุทธภาษิตข้อสำคัญ ที่พุทธศาสนิกชนทุกคนควรทราบ ควรศึกษาให้เข้าใจชัด และควรสำเหนียกตระหนักอยู่ตลอดเวลา เพราะจะทำให้เกิดสัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ อันจะอนุกูลให้แต่ละคนประพฤติปฏิบัติตนปฏิบัติการงานแต่ในทางที่ เป็นแก่นสารเป็นประโยชน์และประสบความสำเร็จความเจริญทุกเมื่อไม่มีตกต่ำ...”

73

พระบรมราโชวาท ในพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ณ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก วันอังคาร ที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๓๑

“...นักศึกษาจำเป็นต้องทำสติ หรือตั้งสติ ความระลึกรู้นี้ไว้ให้มั่นเสมอ เพื่อให้รับรู้และเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านพบ อย่างครบถ้วนชัดเจน จักได้สามารถจับเหตุ จับผล จับหลักการได้ถูกต้องตั้งแต่ต้น. ข้อใดที่มิใช่ประโยชน์ ก็คัดออกไป ข้อใดที่เป็นประโยชน์ก็จดจำสะสมไว้ในความทรงจำ...”

74

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานกระบี่และปริญญาบัตรแก่ว่าที่ร้อยตำรวจตรี

ที่สำเร็จการศึกษาชั้นสูงสุดจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ประจำปีการศึกษา ๒๕๓๑

พระราชทานประกาศนียบัตรเข็มพิทักษ์ชนาธิปัตย์แก่ ผู้สำเร็จการศึกษาอบรมหลักสูตรการบริหารงานตำรวจชั้นสูง รุ่นที่ ๖, ๗

พระราชทานประกาศนียบัตรกับเข็มสันติพิทักษ์แก่ ผู้สำเร็จการศึกษาอบรมหลักสูตรผู้กำกับการ รุ่น ๑๒, ๑๓ และพระราชทานประกาศนียบัตรกับเข็มพิทักษาธิปัตย์แก่

ผู้สำเร็จการศึกษาอบรมหลักสูตรฝ่ายอำนวยการตำรวจ รุ่นที่ ๑๑ ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร

วันอังคาร ที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๓๒

“...อุปสรรคสำคัญของการทำงานคือ ความท้อถอย และความหวั่นเกรงต่ออิทธิพลต่าง ๆ ซึ่งเป็นเหตุบั่นทอนความสามารถในตนกับทั้งความเที่ยงตรงต่อหน้าที่อย่างร้ายกาจ...”

75

พระราชดำรัส ในพิธีทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ของ ๕ สถาบัน

ณ ศาลาดุสิดาลัย พระราชวังดุสิต วันอังคาร ที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๓๒

“...เจตนาสำคัญข้อหนึ่งของมหาวิทยาลัย ก็คือมุ่งจะอบรมนักศึกษาให้เป็นคนเก่ง คือให้มีความเป็นเลิศในด้านต่าง ๆ รอบตัว เช่นในด้านวิชาการ ด้านความคิดริเริ่มด้านความกล้าหาญสามารถในการแสดงออก และด้านความกระตือรือร้นที่จะก้าวหน้า เป็นต้น. การสอนคนให้เก่งนี้ ถ้าดูเฉพาะบางแง่บางมุม อาจเห็นว่าดีว่าสอดคล้องต้องกับสมัยเร่งรัดพัฒนา. แต่ถ้ามองให้ถี่ถ้วนรอบด้านแล้ว จะเห็นว่าการมุ่งสอนคนให้เก่งเป็นเกณฑ์ อาจทำให้ เกิดจุดบกพร่องต่าง ๆ ขึ้นในตัวบุคคลได้ไม่น้อย.ที่สำคัญก็มี ข้อหนึ่ง บกพร่องในความคิดพิจารณาที่รอบคอบและกว้างไกล เพราะใจร้อนเร่งจะทำการให้เสร็จโดยเร็วเป็นเหตุให้การงานผิดพลาดขัดข้องและล้มเหลว. ข้อสอง บกพร่องในความนับถือและเกรงใจผู้อื่น เพราะถือตนว่าเป็นเลิศเป็นเหตุให้เย่อหยิ่ง มองข้ามความสำคัญของบุคคลอื่น และมักก่อความขัดแย้งทำลายไมตรีจิตมิตรภาพตลอดจนความสามัคคีระหว่างกัน. ข้อสาม บกพร่องในความมัธยัสถ์พอเหมาะพอดีในการกระทำทั้งปวง เพราะมุ่งหน้าแต่ทำตัวให้เด่นให้ก้าวหน้าเป็นเหตุให้เห็นแก่ตัวเอารัดเอาเปรียบ. ข้อสี่ บกพร่องในจริยธรรมและความรู้จักผิดชอบชั่วดี เพราะมุ่งแต่จะแสวงหาประโยชน์เฉพาะตัวให้ เพิ่มพูนขึ้น เป็นเหตุให้ทำความผิดและความชั่วทุจริตได้โดยไม่รู้สึกสะดุ้งสะเทือน. ผู้ที่มีจุดบกพร่องดังกล่าวนี้ เห็นกันอยู่ว่ามักจับเหตุจับผล จับหลักการไม่ถูก.ส่วนใหญ่จึงประสบปัญหาและความผิดพลาด ไม่อาจสร้างความเจริญก้าวหน้าที่มั่นคงแท้จริงให้แก่ตนแก่บ้านเมืองได้ตามเป้าหมาย. ดังนั้น นอกจากจะสอนคนให้เก่งแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอบรมให้ดีพร้อมกันไปด้วย. ประเทศของเราจึงจะได้คนที่มีคุณภาพพร้อม คือทั้งเก่งทั้งดี มาเป็นกำลังของบ้านเมือง กล่าวคือ ให้ความเก่งเป็นปัจจัยและพลังสำหรับการสร้างสรรค์ ให้ความดีเป็นปัจจัยและพลังประคับประคองหนุนนำความเก่ง ให้เป็นไปในทางที่ถูก ที่ควรที่อำนวยผลเป็นประโยชน์อันพึงประสงค์แต่ฝ่ายเดียว...”

76

พระบรมราโชวาท สำหรับเชิญไปอ่านเนื่องในการเปิดประชุมใหญ่

ของสมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักร ครั้งที่ ๓๖ ณ พุทธสถาน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ ๑๘-๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๓๒

“...ความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งที่น่าวิตกก็คือ ทุกวันนี้ ความคิดอ่านและความประพฤติหลาย ๆ อย่าง ซึ่งแต่ก่อนถือว่าเป็นความชั่วความผิด ได้กลายเป็นสิ่งที่คนในสังคมยอมรับ แล้วพากันประพฤติปฏิบัติโดยไม่รู้สึกสะดุ้งสะเทือน จนทำให้เกิดปัญหาและทำให้วิถีชีวิตของแต่ละคนมืดมนลงไป. ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นหน้าที่ของชาวพุทธจะต้องร่วมกันแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง. แต่ละท่านแต่ละฝ่ายต้องยึดหลักการให้มั่นคง ที่จะไม่ทำสิ่งใด ๆ ที่ชั่วที่เสื่อม ต้องกล้าและบากบั่น ที่จะทำแต่สิ่งที่เป็นความดีเป็นความถูกต้องและเป็นธรรม เพื่อให้ผลความประพฤติดีปฏิบัติชอบบังเกิดเพิ่มพูนขึ้น และค้ำจุนส่วนรวมไว้มิให้เสื่อมทรุดลงหากให้กลับฟื้นคืนดีขึ้นได้เป็นลำดับ...”

77

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันศุกร์ ที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๓๓

“. . .ปัญหาทุกอย่างมีทางแก้ไขได้ . ถ้าแก้คนเดียวไม่ได้ ก็ช่วยกันคิดช่วยกันแก้หลาย ๆคน หลาย ๆ ทาง ด้วยความร่วมมือปรองดองกัน. ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น จักได้ไม่กลายเป็นอุปสรรคขัดขวางและบ่อนทำลายความเจริญและความสำเร็จของการงาน...”

78

พระราชดำรัส ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรีเฝ้าฯ

ถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันอาทิตย์ ที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๓๓

“...การตั้งต้นงานนี้สำคัญที่สุด คำว่า “ตั้ง” นั้นก็มีไว้ เพราะว่าสำหรับทำงานใด ๆก็จะต้องมีความตั้งใจ ตั้งใจนั้นก็คือเอาใจตั้งในงาน หรืออีกอย่างเอางานมาตั้งไว้ข้างหน้าใจเมื่อเอางานมาตั้งไว้ข้างหน้าใจ หรือเอาใจตั้งไว้ในงานนั้น เชื่อว่างานก็คงจะสำเร็จลุล่วงไปได้โดยดี...”

79

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ประจำปีการศึกษา ๒๕๓๒ ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วันพฤหัสบดี ที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๓๓

“...เมื่อคิดเรื่องใดสิ่งใด ต้องทำใจให้มั่นคงเป็นกลาง มีเหตุมีผล มีความจริงใจ และสุจริตเที่ยงตรง เพื่อความคิดจักได้กระจ่าง แน่วแน่ เห็นถึงจุดหมายและประโยชน์ที่แท้ของภารกิจของตนอย่างถูกต้องครบถ้วน แล้วสามารถสรรหาหลักวิชาส่วนที่เหมาะที่ถูกมาใช้ปฏิบัติการได้อย่างมีประสิทธิภาพ...”

80

พระราชดำรัส ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรีเฝ้าฯ

ถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันพุธ ที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๓๓

“...หลักของการปกครองในปัจจุบันนี้ ซึ่งก็จะต้องอาศัยบุคคลที่มีความสามารถ หมายถึงมีความรู้ มีความตั้งใจ มีความเฉลียวฉลาดและมีกำลังกายใจแข็งแรง เพื่อที่จะให้บรรลุผลได้ดี สิ่งที่สำคัญก็คำที่เริ่มปฏิญาณว่าจะปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตนั้นเป็นสิ่งที่นับว่าสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ถ้าทำงานด้วยความรู้ในหลักวิชา และประกอบด้วยความซื่อสัตย์สุจริตต่อประเทศชาติ งานนั้นก็บรรลุผลได้เต็มที่ไม่ว่าอยู่ในตำแหน่งใด...”

81

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ครั้งที่ ๒๖ ณ ศาลาอ่างแก้ว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

วันศุกร์ ที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๓๕

“...ความริเริ่มนั้น ฟังดูเผิน ๆ ดูเหมือนจะผุดเกิดขึ้นมาได้เอง. แต่ที่จริงความคิดชนิดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าปราศจากพื้นฐาน หมายความว่า ก่อนที่ความคิดริเริ่มในเรื่องหนึ่งเรื่องใด จะเกิดขึ้น บุคคลจะต้องมีความรู้ที่ชัดเจนและกว้างขวางในเรื่องนั้น ๆ เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ทั้งยังต้องมีความคิดพิจารณาที่ดีมีระบบ มีหลักเกณฑ์และเหตุผล พร้อมอยู่ด้วย. เมื่อได้นำความรู้กับความคิดพิจารณานั้นมาประสานกันเข้าอย่างถูกถ้วน พอเหมาะพอดี จึงจะสามารถสร้างความคิดใหม่ที่พร้อมมูลด้วยสาระและหลักการ อันเรียกว่าความคิดริเริ่ม ขึ้นมาได้ สำหรับใช้เกื้อกูลการปฏิบัติบริหารงาน...”

82

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันเสาร์ ที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๓๕

“ ...คนที่รักษาความจริงใจต่อตนเองไว้ได้มั่นคง จะไม่เป็นคนสับปลับ หากแต่เป็นคนที่หนักแน่นเที่ยงตรง ทำอะไรตามกฎเกณฑ์ตามระเบียบ ตามเหตุผลและความถูกต้องเป็นธรรม จึงเป็นผู้สามารถสร้างสรรค์และสร้างสมความดีความเจริญให้งอกงามเพิ่มพูนยิ่งๆขึ้นได้...”

83

พระราชดำรัส พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๓๖

วันพฤหัสบดี ที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๓๕

“...จิตใจที่สะอาดปลอดโปร่งจากสิ่งรบกวนนี้สำคัญมาก เพราะเป็นจิตใจสงบระงับและเยือกเย็น ทำให้บุคคลมีสติรู้ตัว มีความคิดเที่ยงตรงเป็นกลาง มีวิจารณญาณละเอียด กว้างขวาง และถูกต้องตรงจุด. ความคิดวิจารณญาณที่เกิดจากจิตใจที่สงบนี้มีศักยภาพสูง อาจนำไปใช้คิดอ่านสร้างสรรค์สิ่งที่จะอำนวยประโยชน์สุข ความเจริญก้าวหน้า ตลอดจนชื่อเสียงเกียรติคุณ อันเป็นสิ่งที่ปรารถปรารถนาของแต่ละคนให้สัมฤทธิ์ผลได้...”

84

พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล

ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา

พระราชวังดุสิต วันเสาร์ ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๖

“...สามัคคีหรือการปรองดองกัน ไม่ได้หมายความว่า คนหนึ่งพูดอย่างหนึ่งคนอื่นต้องพูดเหมือนกันหมด. ลงท้ายชีวิตก็ไม่มีความหมาย. ต้องมีความแตกต่างกัน แต่ต้องทำงานให้สอดคล้องกัน.แม้จะขัดกันบ้างก็ต้องสอดคล้องกันถ้าไม่สอดคล้องกันพัง...”

85

พระบรมราโชวาท พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในพิธีเปิดการประชุมยุวพุทธิกสมาคม

ทั่วประเทศ ครั้งที่ ๑๙ ณ วัดอัมพวัน อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี

วันจันทร์ ที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๓๗

“...ชาวพุทธที่แท้จึงเป็นผู้คิดชอบปฏิบัติชอบอยู่เป็นปรกติ อยู่ ณ ที่ใดก็ทำให้ที่นั้นสงบร่มเย็น มีแต่ความปรองดองและสร้างสรรค์. จึงเป็นโชคดีอย่างยิ่ง ที่ประเทศไทยเรามี พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ทำให้คนไทยทุกเชื้อชาติศาสนาอยู่ร่วมกันด้วยความสุข มีความรักความปรารถนาดีต่อกัน มีการสงเคราะห์อนุเคราะห์ซึ่งกันและมีความสมัครสมานสามัคคีกันเป็นอย่างดี. การที่ยุวพุทธิกสมาคมได้ตั้งใจพยายามในอันที่จะปลุกจิตสำนึกของชาวพุทธให้หนักแน่นมั่นคงในพระศาสนายิ่งขึ้น จึงเป็นสิ่งที่ดีมีคุณประโยชน์ ทั้งแก่การจรรโลงพระพุทธศาสนา และแก่ส่วนรวมคือประเทศชาติอันเป็นที่เกิดที่อาศัย...”

86

พระบรมราโชวาท เพื่อเชิญไปอ่านในพิธีเปิดการประชุมสมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักร

ครั้งที่ ๓๙ เรื่อง “พระพุทธศาสนาในสังคมยุคโลกาภิวัตน์” ณ หอประชุมพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม

วันศุกร์ ที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๓๘

“. . . .ทุกสิ่ งทุกอย่างแปรเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา สังคมก็เช่นเดียวกัน ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามวิวัฒนาการของโลก.ข้อนี้จึงไม่ควรวิตกให้มากเกินไป อีกข้อหนึ่ง ท่านทั้งหลายจะต้องไม่ลืมว่า พระพุทธศาสนานั้นถ้าหมายถึงคำสั่งสอนที่เที่ยงตรงตามพระพุทโธวาทแท้ ๆ แล้ว ย่อมมีความแน่นอนมั่นคงอยู่ในตัว เช่นความดีก็เป็นความดี ความชั่วก็เป็นความชั่ว และทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่วอย่างปราศจากข้อสงสัย. เหตุนี้ พระธรรมจึงชื่อว่าอกาลิโก คือถูกต้องเที่ยงแท้ และไม่ประกอบด้วยกาล เหมาะที่จะน้อมนำมาประพฤติปฏิบัติเสมอไม่ว่าในกาลไหน ๆ.ข้อสำคัญ ชาวพุทธจะต้องขวนขวายศึกษาพุทธธรรมให้ทราบชัด และน้อมนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง ด้วยการพยายามลดละความโลภ ความโกรธ ความหลง อันเป็นต้นเหตุแห่งการกระทำชั่วกระทำผิด และกล้าที่จะบากบั่นกระทำสิ่งที่เป็นความดี โดยไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นสิ่งที่พ้นสมัยหรือน่ากระดากอาย. ถ้าชาวพุทธทำได้ดังนี้ ก็จะเป็นเหตุเกื้อกูลอย่างสำคัญ ที่จะช่วยจรรโลงรักษาพระพุทธศาสนาไว้ให้มั่นคงในทุกสถานะและในกาลทุกเมื่อ...”

87

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล

ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร วันศุกร์ ที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๓๙

“...ผู้มีปัญญาและความรู้ดี เพราะมีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียนมามากกว่าผู้อื่นย่อมมีหน้าที่และความรับผิดชอบเป็นพิเศษ ที่จะต้องทำตัวทำงานให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน. การที่จะกระทำให้ได้ผลเป็นประโยชน์ดังนั้น จำเป็นที่แต่ละคนต้องรู้ซึ้งถึงประโยชน์ที่แท้เป็นเบื้องต้นก่อน.ประโยชน์ที่แท้นั้นมีอยู่ ๒ อย่าง คือ ประโยชน์ส่วนตัว ที่ทุกคนมีสิทธิ์จะแสวงหาและได้รับ แต่ต้องด้วยวิถีทางที่สุจริตและเป็นธรรม กับประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งเป็นประโยชน์ของชาติที่แต่ละคนมีส่วนร่วมอยู่. การทำงานทุกอย่างจะต้องให้ได้ประโยชน์แท้ทั้งส่วนตัวและส่วนรวม ประโยชน์นั้นจึงจะสมบูรณ์และมั่นคงถาวร เป็นผลดีแก่ชาติบ้านเมืองอย่างแท้จริง...”

88

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันพฤหัสบดี ที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๓๙

“...ปัญหาทุกอย่างไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ มีทางแก้ไขได้ ถ้ารู้จักคิดได้ดี ปฏิบัติได้ถูก. การคิดได้ดีนั้น มิใช่การคิดได้ด้วยลูกคิดหรือด้วยสมองกล เพราะถึงโลกเราในปัจจุบันจะวิวัฒนาการไปมากเพียงใดก็ตาม ก็ยังไม่มีเครื่องมืออันวิเศษชนิดใดสามารถขบคิดแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างสมบูรณ์. การขบคิดวินิจฉัยปัญหา จึงต้องใช้สติปัญญา คือคิดด้วยสติรู้ตัวอยู่เสมอเพื่อหยุดยั้งและป้องกันความประมาทพลาดผิดและอคติต่าง ๆ มิให้เกิดขึ้น ช่วยให้การใช้ปัญญาพิจารณาปัญหาต่าง ๆ เป็นไปอย่างเที่ยงตรง ทำให้เห็นเหตุเห็นผลที่เกี่ยวเนื่องกันเป็นกระบวนการได้กระจ่างชัดทุกขั้นตอน...”

89

พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล

เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย

วันพฤหัสบดี ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๒๙

“...คนดีทำให้คนอื่นดีได้ หมายความว่าคนดี ทำให้เกิดความดีในสังคม คนอื่นก็ดีไปด้วย. ความเลวนั้นจะทำให้คนดีเป็นคนเลวก็ยาก แต่เป็นไปได้. ถ้าคนดีเข้มแข็งในความดีจะให้คนเลวมาทำให้คนดีเป็นคนเลวยาก.สำคัญอยู่ที่ความเข้มแข็งของคนดี...”

90

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วันพฤหัสบดี ที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๐

“...คนเราเมื่อมีความรู้ความสามารถที่ดีเป็นทุนรอนอยู่จะไม่มีวันอับจน ย่อมหาทางสร้างตัวสร้างฐานะให้ก้าวหน้าได้เสมอ. ข้อสำคัญ ในการสร้างตัวสร้างฐานะนั้นจะต้องถือหลักค่อยเป็นค่อยไป ด้วยความรอบคอบระมัดระวังและความพอเหมาะพอดี ไม่ทำเกินฐานะและกำลัง หรือทำด้วยความเร่งรีบ.เมื่อมีพื้นฐานแน่นหนารองรับพร้อมแล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญก้าวหน้าในระดับที่สูงขึ้น ตามต่อกันไปเป็นลำดับ. ผลที่เกิดขึ้นจึงจะแน่นอน มีหลักเกณฑ์ เป็นประโยชน์แท้และยั่งยืน...”

91

พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล

เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดาฯ พระราชวังดุสิต

วันศุกร์ ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑

“...คนเราถ้าพอในความต้องการ ก็มีความโลภน้อยเมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย. ถ้าทุกประเทศมีความคิด - อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ - มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ไม่สุดโต่งไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข. พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น...”

92

พระราชดำรัส พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย

ในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๔๖ วันอังคาร ที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๕

“...คุณธรรมข้อหนึ่ง ที่ยังมีอยู่อย่างบริบูรณ์ในจิตใจของคนไทย ก็คือ การให้. การให้นี้ ไม่ว่าจะให้สิ่งใด แก่ผู้ใด โดยสถานใดก็ตาม ล้วนเป็นสิ่งที่พึงประสงค์อย่างยิ่ง เพราะเป็นเครื่องประสานไมตรีอย่างสำคัญระหว่างบุคคลกับบุคคล และทำให้สังคมมีความมั่นคงเป็นปึกแผ่น ด้วยสามัคคีธรรม. นอกจากนั้น การให้ยังเป็นบ่อเกิดแห่งความสุขอีกด้วยกล่าวคือ ผู้ให้ก็มีความสุข มีความอิ่มเอิบใจ ผู้รับก็มีความสุข มีกำลังใจ สังคมส่วนรวมตลอดถึงประเทศชาติก็มีความผาสุกมีความร่มเย็น...”

93

พระราชดำรัส พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๔๘

วันศุกร์ ที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๗

“...ทุกคนในผืนแผ่นดินไทย ทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน มีความสามัคคีกัน ต่างห่วงใยกันด้วยใจจริง ได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะอยู่ร่วมกันโดยสันติสุข และเมื่อเกิดภัยพิบัติคนไทยไม่ทิ้งกัน ต่างพร้อมเพรียงกันเข้าปฏิบัติช่วยเหลือทันที ด้วยความเสียสละและเมตตาจริงใจไม่เลือกว่าเป็นชาวไทยหรือชาวต่างประเทศ...”

94

พระราชดำรัส พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยในโอกาสขึ้นปีใหม่

พุทธศักราช ๒๕๔๙ วันเสาร์ ที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๘

“...จิตใจที่สะอาดและสงบนี้สำคัญมาก เพราะทำให้บุคคลมีสติรู้ตัว มีวิจารณญาณเที่ยงตรงถูกต้อง สามารถคิดอ่านสร้างสรรค์สิ่งที่จะอำนวยประโยชน์สุขความเจริญก้าวหน้า ตลอดจนชื่อเสียงเกียรติคุณ อันเป็นสิ่งที่แต่ละคนต้องการ ให้สัมฤทธิ์ผลได้...”

95

พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่ข้าราชการพลเรือน เนื่องในวันข้าราชการพลเรือน

วันเสาร์ ที่ ๑ เมษายน ๒๕๔๙

“...ข้าราชการผู้ปฏิบัติบริหารงานของแผ่นดิน จะต้องมุ่งปฏิบัติภาระทั้งปวงด้วยความอุตสาหะเพ่งพินิจ ใช้ความรู้ความคิด ความเฉลียวฉลาด และความรู้ผิดชอบชั่วดีเป็นเครื่องวิจัยวิจารณ์ ปรับปรุงตัวปรับปรุงงานให้มีประสิทธิภาพเสมอ. งานที่ทำจึงจะสำเร็จผลสมบูรณ์ และก่อเกิดประโยชน์ที่พึงประสงค์ เป็นความเจริญมั่นคงทั้งแก่ตนแก่งานและแก่ส่วนรวมพร้อมทุกส่วน...”

96

พระราชดำรัส ในพิธีถวายพระพรชัยมงคล ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม

วันจันทร์ ที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๔๙

“...การทำนุบำรุงประเทศชาตินั้น มิใช่เป็นหน้าที่ของผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะ หากเป็นภาระความรับผิดชอบของคนไทยทุกคน ที่จะต้องขวนขวายกระทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุดเพื่อธำรงรักษาและพัฒนาชาติบ้านเมืองให้เจริญมั่นคงและผาสุกร่มเย็น...”

97

พระราชดำรัส พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๕๐

วันอาทิตย์ ที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๙

“...บ้านเมืองของเรามีเหตุการณ์เกิดขึ้นหลายอย่าง. บางเรื่องก็กระทบกระเทือนถึงฐานะทางเศรษฐกิจ การคลัง การเมือง ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่และความมั่นคงปลอดภัย.สมควรที่เราชาวไทยจะร่วมมือกันแก้ไขให้คลี่คลายไปโดยเร็ว...”

98

พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่ข้าราชการพลเรือน เนื่องในวันข้าราชการพลเรือน

วันอาทิตย์ ที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๐

“...งานของแผ่นดินนั้น เป็นงานส่วนรวม มีผลเกี่ยวเนื่องถึงความเจริญขึ้นหรือเสื่อมลงของบ้านเมืองและสุขทุกข์ของประชาชนทุกคน. ข้าราชการผู้ปฏิบัติบริหารงานของแผ่นดิน จึงต้องสำนึกตระหนักในความรับผิดชอบที่มีอยู่ และตั้งใจพยายามปฏิบัติหน้าที่โดยเต็มกำลังความสามารถ ด้วยความเข้มแข็งสุจริต และด้วยปัญญารู้คิดพิจารณา ว่าสิ่งใดเป็นความเจริญ สิ่งใดเป็นความเสื่อม อะไรเป็นสิ่งที่ต้องทำอะไรเป็นสิ่งที่ต้องละเว้นและกำจัดอย่างชัดเจนถูกตรง...”

99

พระบรมราโชวาท พิธีพระราชทานปริญญาบัตร วุฒิบัตร ประกาศนียบัตร เข็มวิทยาฐานะ

แก่ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้สำเร็จการศึกษา จากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร วิทยาลัยเสนาธิการทหาร วิทยาลัยการทัพบก วิทยาลัยการทัพเรือ วิทยาลัยการทัพอากาศ

โรงเรียนเสนาธิการทหารบก โรงเรียนเสนาธิการทหารเรือ โรงเรียนเสนาธิการทหารอากาศ ณ ศาลาดุสิดาลัย

วันพฤหัสบดี ที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๐

“...ถ้าท่านประพฤติดี ปฏิบัติงานในหน้าที่ด้วยความเข้มแข็งรับผิดชอบก็จะเกิดเป็นการนำที่ดี เป็นตัวอย่างที่ดี ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาได้ประพฤติปฏิบัติตาม. สิ่งที่แต่ละคนแต่ละหน่วยงานปฏิบัติ ก็จะประกอบส่งเสริมกัน ให้งานส่วนรวมของชาติดำเนินไปสู่เป้าหมายที่พึงประสงค์ คือความมั่นคงปลอดภัยของบ้านเมืองและความวัฒนาผาสุกของประชาชน...”

กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม

top related