Transcript
Page 1: นิสิตแพทย์จุฬาฯ : ชนะประกวด ...pr.md.chula.ac.th/spotlight/year4/04-24.pdfณ ศ นย น ทรรศการไบเทค เวลา

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “แพทย์จุฬาฯ คู่กาชาดไทย วิชาการก้าวไกลสู่สากล รับใช้ปวงชนด้วยคุณธรรม”

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย “บริการประทับใจ รับใช้ชาวประชา ก้าวหน้าวิชาการ บริหารงานดีเด่น เน้นคุณภาพชีวิต”

นิสิตแพทย์จุฬาฯ : ชนะประกวดบทความ : แพทยสภา

ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๒๔ วันจันทร์ที่ ๑๒ เดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๕

รศ.นพ.สมชาย ธนวัฒนาเจริญ รองคณบดี ฝ่ายกิจการนิสิต คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมแสดงความยินดีกับ นางสาวสิตานัน เลิศศิริพาณิชย์ นิสิตแพทย์ ชั้นปีที่ 4 ได้รับรางวัล “รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง” จากบทความ “เพราะมีคุณค่า” และ นางสาวณิชกานต์ สุขศิริลักษณ์ นิสิตแพทย์ ชั้นปีที่ 5 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้รับรางวัล “รองชนะเลิศอันดับสอง” จากบทความ “ใต้ท้องฟ้าบนพื้นดิน” ในหัวข้อ “แรงบันดาลใจที่จะเป็นแพทย์และความมุ่งมั่น ที่จะเป็นแพทย์ที่ดี” เมื่อวันพุธที่ 31 ตุลาคม 2555 เวลา 13.00 น. ณ ศูนย์นิทรรศการไบเทค บางนา จาก พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร อุปนายกแพทยสภา ใน งานนิทรรศการ “มหกรรมรวมพลคนรักสุขภาพ 2555” (Thailand Medical Expo 2012) ซึ่งจัดโดย แพทยสภา

นางสาวสิตานัน เลิศศิริพาณิชย์ นิสิตแพทย์ ชั้นปีที่ 4 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ การศึกษา ประถมศึกษา : โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ สีลม พ.ศ. 2545 มัธยมต้น : โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ พ.ศ. 2548 มัธยมปลาย : โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พ.ศ. 2551 การศึกษาปัจจุบัน : นิสิตแพทย์ ชั้นปีที่ 4 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ความรู้สึกของการมีส่วนร่วม : “รู้สึกดีที่มีการเปิดโอกาสให้ นิสิตแพทย์ ได้แสดงความสามารถในด้านอื่นเช่น การเขียน และเป็นโอกาสที่ดีที่ เปิดมุมมองของ คนภายในสู่ภายนอกที่อาจจะมีความคิดที่ลึกตื้นแตกต่างกัน รู้สึกภาคภูมิใจและ เป็นเกียรติที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้และได้รับคัดเลือกบทความ หวังว่าบทความที่เขียนจะสามารถมอบบางสิ่งให้กับผู้อ่านได้บ้างไม่มากก็น้อย”

“เพราะมีคุณค่า” บทความโดย : นางสาวสิตานัน เลิศศิริพาณิชย์ ฉันเคยถามตัวเองอยู่บ่อยครั้งว่าการ จะเป็น “แพทย์” สักคนต้องการอะไรบ้าง เคยสงสัยว่ามันจะเหมือนที่เคยวาดฝันไว้ตอนสมัยเด็กๆ หรือเปล่า ภาพแพทย์ที่รักษาคนไข้ แพทย์ที่เก่งกาจ ได้รับความเคารพ แท้จริงแล้วเขาต้องผ่านอะไรบ้างกว่าจะไปยืนที่จุดๆ นั้นได้? ฉันเริ่มต้นด้วยความรู้สึก “เฉยชา” เลือกเรียนแพทย์ตามประสาเด็กมัธยมที่ไม่รู้ว่าตัวเองอยากเป็นอะไรกันแน่ และก็ตามเพื่อนอยู่ส่วนหนึ่ง ฉันไม่เคยใฝ่ฝันหรือมีแรงบันดาลใจที่จะเป็นแพทย์ พอสอบติดก็คิดว่าคงจะเรียนได้ไม่ลำบากนัก ฉันคิดว่าหลายคนรู้สึกแบบเดียวกัน เป็นทัศนคติธรรมดาๆ แต่ก็ยังเลือกที่จะเข้ามาเรียนเพราะรู้สึกว่ามันเป็นอาชีพที่ดี มั่นคง แล้วก็มีคนต้องการ ถึงฉันจะเป็นคนที่ค่อนข้างใจกว้างและขี้สงสาร แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าความคิดเหล่านั้นจะช่วยให้อยากเป็นแพทย์มากขึ้น เมื่อสอบเข้ามาเรียนได้แล้วก็รู้เพียงแต่ว่าเราเลือกที่จะทำหน้าที่นี้แล้ว ชอบหรือไม่ อย่างน้อยเราก็ต้องเป็นหมอที่ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน เราไม่อยู่บนความทุกข์ของตนเอง และเราก็จะไม่อยู่บนความทุกข์ของคนอื่น ชีวิตการเป็นแพทย์ของฉันพลิกผันเป็นอีกแบบเมื่อเลื่อนจากชั้นพรีคลินิกขึ้นชั้นคลินิก จากเด็กเรียนแพทย์คนหนึ่งที่งกๆ เงิ่นๆ นั่งเรียนเนื้อหาไปวันๆ แบบไร้จุดหมายไม่รู้ว่าจะได้ใช้ประโยชน์สักเท่าไร ฉันได้มาสัมผัสชีวิตการเป็น “แพทย์” จริงๆ ฉันได้เจอกับคนไข้ ได้พูดคุย ดูแลรักษา มันแทบจะไม่เหมือนภาพที่ฉันเคยวาดฝันเอาไว้เลย มีคนป่วยมากกว่าที่ฉันคิด คนไข้ไม่น้อยน่าสงสารจนเรียกได้ว่า “เหลือขอ” มันทำให้ฉันเริ่มเข้าใจชีวิตบนเส้นทางที่ฉันไม่มีทางได้เดินเอง และเริ่มลงไปมองคนที่ต่ำกว่า ตั้งแต่เข้ามาเรียนแพทย์ หลายต่อหลายครั้งที่ฉันท้อถอยกับเนื้อหาที่ยากแสนยาก เบื่อหน่ายกับการต้องแข่งขันกับเพื่อน หลายครั้งที่อยากจะหยุดแล้วไปเริ่มใหม่ทางอื่นแค่เพราะตัวเลขไม่กี่ตัวในใบผลการเรียน แต่พอฉันมองคนที่ต่ำกว่า ฉันรู้สึกว่าปัญหาของฉันมันเป็นเรื่องเล็กน้อยจนน่าขำ ยังมีคนที่ทุกข์ทรมาน ไม่รู้ว่าจะตายวันตายพรุ่งอยู่ตั้งมากมาย ฉันโชคดีแค่ไหนแล้วที่ยังมีชีวิตที่ดี มีสังคมที่ดี จนมันทำให้ฉันรู้สึกว่าฉันเห็นแก่ตัว “ฉันได้มาตั้งเยอะเท่านี้ แล้วฉันจะยืนอยู่เฉยๆ หรือ ทำไมฉันถึงไม่แบ่งให้คนที่มีน้อยกว่าบ้าง?” เป็นคำถามที่ผุดขึ้นในใจของฉัน ฉันไม่รู้ว่ามันเรียกว่าแรงบันดาลใจหรือไม่ แต่มันทำให้ฉันรู้สึกว่าฉันหยุดอยู่ตรงนี้ไม่ได้ ฉันอยากให้คนอื่นมีความสุขเหมือนกัน ในเมื่อฉันอยู่ในฐานะของคนที่จะกลายเป็นแพทย์ คนที่สามารถจะช่วยเขาให้พ้นไปจากตรงนี้ได้ ฉันจะไม่ทำเชียวหรือ? ทำไมถึงไม่เต็มที่ ทำไมถึงหยุดในเมื่อความทุกข์มันไม่เคยหยุดรอฉัน? ฉันเริ่มลอง “ให้” แล้วฉันก็เริ่มมีความสุขเหมือนกับที่คนไข้มีความสุข... ฉันรู้สึกดีที่ได้ให้ และรู้สึกดีที่ผู้รับ “เห็นค่า” ของสิ่งที่เราให้ ถึงแม้ฉันจะยังเป็นแค่นิสิต

แพทย์ที่ความรู้อ่อนด้อยเทียบกับแพทย์ที่อาวุโสกว่า แต่หลังจากวันนั้นฉันท้อในการเรียนน้อยลงมาก แค่คำขอบคุณสั้นๆ จากปากผู้ป่วยในแต่ละวันที่ไปโรงพยาบาล มันเป็นกำลังใจหล่อเลี้ยงให้ฉันยังรู้สึกว่า “ฉันยังมีคุณค่า” และมันแปลว่ายังมีคนที่ต้องการ “คุณค่านั้น” อยู่ มันทำให้นอกจากรักคนไข้แล้วฉันยังรักตัวเอง และมันยิ่งทำให้ฉันอยากจะทำให้มากขึ้น อยากจะทำให้ดีขึ้น ตราบใดที่ยังมี “คนที่ต่ำกว่าฉัน” ถ้ายังไม่หมดแรง ฉันก็ยังอยากที่จะให้เขามีชีวิตที่ดีกว่านี้ ผ่านมาหลายปีที่เรียนแพทย์อาจมีหลงผิดหลงถูก แต่ตอนนี้ฉันรู้สึกว่าการเป็นแพทย์ที่ดีไม่ใช่ว่าต้องมีคุณสมบัติที่สวยหรู หรือมีผลการเรียนอันดับหนึ่ง แต่แพทย์คือคนที่คอยเปลี่ยน “ทุกข์” ของคนไข้ให้กลายเป็น “สุข” สิ่งที่สำคัญของการเป็นแพทย์ที่ดีคือมี “ใจ” ที่เอื้ออาทร ถ้าเรามีใจที่มุ่งมั่นเข้มแข็ง มีทัศนคติที่ดี ความตั้งใจและสิ่งอื่นๆ มันก็จะตามมาเอง อย่างอื่นเราเก็บได้ตามรายทาง ตามประสบการณ์ที่จะหล่อหลอมเราในอนาคต แต่ “ใจ” ต้องมาตั้งแต่แรก ไม่อย่างนั้นก็จะไปไม่ถึงอนาคตไม่ใช่หรือ? บางทีฉันอยากหัวเราะ เพราะรู้สึกว่าการเป็นแพทย์ที่ดีไม่ต้องพยายามปั้นแต่งหรือผลักดันตัวเองให้มากมาย “แพทย์ที่ดี” ก็คงยังเป็นคำพูดที่ไม่มีความหมายตราบใดที่เราไม่ค้นพบ “คุณค่า” ในใจของตัวเอง ฉันรู้เพียงว่าหลังจากนี้ตราบใดที่ยังมีคน “ต้องการ” ฉันก็จะยังเป็น “แพทย์” ให้เขาก็เท่านั้น

“แรงบันดาลใจในการที่นิสิตนักศึกษาเเพทย์ใฝ่ฝันจะเป็นแพทย์ เเละความมุ่งมั่นที่จะเป็นเเพทย์ที่ดี”

Page 2: นิสิตแพทย์จุฬาฯ : ชนะประกวด ...pr.md.chula.ac.th/spotlight/year4/04-24.pdfณ ศ นย น ทรรศการไบเทค เวลา

ศูนย์ประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ตึกอานันทมหิดล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 1873 ถนนพระราม 4 แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 โทร. (02) 256 4183, 256 4462 โทรสาร (02) 252 5959 E-mail: [email protected], [email protected] และ [email protected]

ติดตามอ่าน “สารสัมพันธ์” ฉบับ “Spotlight” ได้ที่ http://www.md.chula.ac.th

http://www.md.chula.ac.th http://www.facebook.com/mdcu.page http://www.facebook.com/prmdcu.pr

http://www.twitter.com/prmdcu

ใต้ท้องฟ้าบนพื้นดิน บทความโดย : นางสาวณิชกานต์ สุขศิริลักษณ์ เรื่ อ งนี้ . . . เป็ นครั้ ง แรกของชี วิ ต . . . ที่ทำให้ฉันได้เรียนรู้ว่า “หมอ . . . ไม่ ใช่ เทพยดาบนฟ้ า . . . แต่เป็นเพียงมนุษย์ผู้หนึ่งที่ช่วยเหลือคนไข้... ด้วยจิตวิญญาณ” ท่ามกลางท้องฟ้ายามเย็นที่ตกแต่งด้วยแสงสีส้มไล่เฉดสีไปจนถึงสีชมพู ฉันเป็น นิสิตแพทย์ ชั้นปีที่ 2 คนหนึ่งที่นั่งอยู่ริมระเบียงบ้านหลังจากกลับมาจากมหาวิทยาลัย ในมือของฉันมีขนมปังกรอบที่ฉันซื้อมาทานเล่นเป็นประจำระหว่างการนั่งทบทวนบทเรียน เหตุผลที่ฉันชอบทานขนมปังกรอบคือคุณปู่ของฉันมักซื้อมาให้ทาน ตั้งแต่ที่ฉันยังเด็กจนมันเป็นเรื่องปกติของฉันไปแล้ว ฉันเคยชินกับมัน ขนมชนิดนี้จึง ถูกนำมาเป็นเครื่องมือแทนแรงบันดาลใจให้ฉันตื่นแต่เช้าขึ้นมาทบทวนบทเรียนและ ตอนเย็นหลังเลิกเรียนซึ่งเป็นสิ่งที่ท่านซื้อมาให้ฉันตอนมารับกลับบ้านทุกวันเรื่อยมา ตั้งแต่วัยเยาว์ วันนี้เป็นวันที่มีชั่วโมงเรียนวิชาการผ่าอาจารย์ใหญ่ซึ่งเป็นวิชาที่หนักเอาการสำหรับ นิสิตแพทย์ ชั้นปีที่ 2 ตามตารางสอนกำหนดหมดคาบไว้ตอนสี่โมงเย็น แต่ขณะนี้ หกโมงครึ่งแล้ว ฉันพึ่งถอดเสื้อกาวน์และเตรียมล้างมีดผ่าตัด จากนั้นเมื่อเสร็จภารกิจ ทุกอย่างจึงกลับบ้านพร้อมคุณปู่ซึ่งขับรถมารับฉันเหมือนทุกๆ วันที่ผ่านมา เมื่อเจอคุณปู่ ฉันจึงยกมือไหว้กล่าวสวัสดี จากนั้นคุณปู่ก็พูดประโยคที่ทำให้ใบหน้าอันเหนื่อยล้ายิ้มออกได้ว่า “เรากลับบ้านกันเถอะ” เพราะฉันมีคำตอบอยู่ในใจอยู่แล้วว่า ถ้าฉันเห็นใบหน้าคุณปู่แสนใจดีเมื่อไหร่ หัวใจของฉันคงมีความสุขไม่น้อยเลย เมื่อกลับถึงบ้าน ฉันก็รีบจัดแจงเตรียมอาหารเย็นซึ่งเป็นหน้าที่หลักในบ้าน ของฉัน คุณปู่นั่งมองดูรูปถ่ายที่เรียงติดไว้ที่ผนังห้อง มีรูปถ่ายมากมายตั้งแต่คุณปู่ ยังเด็ก รูปวันสำเร็จการศึกษา รูปวันแต่งงาน และรูปถ่ายครอบครัวหลังจากที่มีหลานคนแรกซึ่งคือฉันนั่นเอง ฉันมองเห็นคุณปู่ดูภาพแล้วยิ้มออกมุมปากคล้ายกับคิดอะไร บางอย่างอยู่ไม่นานคุณปู่ก็ถามฉันเป็นภาษาจีนว่า “หลานโตขึ้นอยากเป็นหมออะไร?” ฉันตอบท่านว่า “ยังไม่ทราบเลยค่ะคุณปู่เดี๋ยวค่อยเลือกก็ได้อีกตั้งหลายปี” จากนั้น ฉันก็เดินต่อเพื่อเปิดประตูเข้าห้อง แล้วคุณปู่ก็ตอบว่า “อืม” ทันทีที่สิ้นเสียง ฉันได้ยินเสียงคุณปู่ล้มตึงลงไปที่พื้นข้างหลังฉัน ฉันตกใจมากและหันหลังกลับไปตกใจมากกว่า กับภาพที่อยู่ตรงหน้า คุณปู่นอนสิ้นสติอยู่ที่พื้น หัวใจฉันเต้นรัว มือของฉันหมดแรงกะทันหันพลอยทำให้แก้วน้ำที่ถืออยู่ตกลงพื้น ขณะนั้นความคิดของฉันเต็มไปด้วย บทเรียนปฏิบัติการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานที่ได้เรียนมาจากมหาวิทยาลัย แต่ตรงกันข้ามมือของฉันแข็งไปหมดไม่ได้ทำตามในสิ่งที่ฉันคิดเลย ฉันรีบตะโกนขอความช่วยเหลือ จากคนอื่นในบ้าน ไม่นานคุณลุงก็วิ่งเข้ามารีบจับชีพจรและลมหายใจแล้วตะโกนว่า “คุณปู่ไม่หายใจแล้ว ทำอย่างไรดี!” จากนั้นเขาก็เริ่มปั๊มหัวใจ ในสมองของฉันตอนนั้นว่างเปล่า ทำอะไรไม่ถูก ฉันยืนนิ่งแต่รู้สึกว่าความคิดของฉันวิ่งเร็วมาก เวลาผ่านไปสักพัก รถพยาบาลก็มานำตัวคุณปู่ไป เมื่อทุกคนไปถึงโรงพยาบาล ฉันก็ได้ยินคำที่ไม่คาดว่าจะได้ยินในขณะนั้นคือ คุณปู่ผู้เป็นที่รักยิ่งของฉันได้ลาจาก ฉันไปอย่างไม่มีวันกลับ พร้อมกันนั้นฉันร้องไห้ฟูมฟาย โกรธหมอ โกรธพยาบาล โกรธทุกคนที่ไม่สามารถช่วยชีวิตคุณปู่ไว้ได้ แต่เมื่อตั้งสติได้แล้ว ฉันยิ่งรู้สึกผิด เพราะตระหนักได้ว่าด้วยเหตุใด ทั้งที่ฉันเป็น นิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และสิ่งที่ฉันทำในเวลาอันคับขันตอนนั้นเป็นเพียงการร้องไห้และตะโกนขอความช่วยเหลือ ด้วยเหตุใดในขณะนั้นจึงไม่ตั้งสติให้ได้ว่าตอนนั้นฐานะเราคือใคร ฉันเป็น นิสิตแพทย์ มีความรู้ความสามารถในการช่วยชีวิตแล้ว ถึงแม่ว่าฉันจะยังอ่อนประสบการณ์แต่ก็น่าคุ้มค่าที่จะทำเพื่อคนที่ฉันรัก ตอนนี้ฉันเป็น นิสิตแพทย์ ชั้นปีที่ 5 เมื่อมองย้อนอดีตกลับไป ฉันยังตำหนิตัวเองว่าทั้งที่เคยเรียนเรื่องการปั๊มหัวใจมาและเคยผ่านการฝึกอบรมมา แต่ฉันกลับไม่ใช้ความรู้ความสามารถที่ฉันมีอยู่ให้เกิดประโยชน์ ตอนนั้นฉันยังคงเด็กเกินไป ฉันรู้สึกเสียใจอย่างมากที่ตนไม่สามารถแม้แต่จะยื้อชีวิตคุณปู่ไว้ได้แม้แต่เพียงเสี้ยววินาทีเดียว ฉันจะจดจำบทเรียนอันมีค่าครั้งนี้ไว้ และถ้าหากฉันได้เจอผู้ป่วยกรณีเช่นนี้อีกครั้งในอนาคต ฉันจะได้ทุ่มเทความสามารถทั้งหมดที่ฉันมี

เมื่อคุณลุงของฉันถามหมอกลับถึงสาเหตุการตาย คุณหมอไม่ให้เหตุผลและ ยังแสดงท่าทีโมโหและพูดจาไม่ดีเมื่อคุณลุงตื้อถามเหตุผล ญาติคนอื่นถามคำถาม เพิ่มเติม แต่ทุกคนก็รู้สึกว่าแพทย์คนนั้นคงจะรำคาญครอบครัวเราและแม้แต่ฉันเอง ก็ยังรู้สึก จนกระทั่งปัจจุบันนี้ ครอบครัวของฉันยังคงรู้สึกไม่ดีกับแพทย์คนนั้นที่ไม่เอาใจใส่ต่อญาติผู้ป่วย ญาติของฉันบางคนบอกว่ารู้สึกว่าแพทย์ไม่พยายามช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยจนถึงที่สุด ตั้งแต่นั้นมาฉันตั้งปฏิญาณกับตัวเองว่า “ถ้าฉันได้เป็นแพทย์ ฉันจะเป็นแพทย์ที่มีปิยวาจาต่อคนไข้และญาติคนไข้ ยึดมั่นในอุดมคติและเมตตาคุณ” การเป็นแพทย์ที่ดีไม่ใช่แค่เป็นเพียงผู้ที่มีสามารถในการรักษาโรคหรือมีความรู้เพียงอย่างเดียว แต่เราควรยึดหลักการการรักษาองค์รวมคือ ดูแลทั้งกาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณของคนไข้หรือ บ่อยครั้งที่ฉันเห็นคนไข้ร้องไห้ต่อหน้าอาจารย์แพทย์หรือแม้กระทั่งการ “กราบ” ซึ่งแสดงให้ถึงว่า คนไข้มีความทุกข์มากและยากลำบากจากโรคที่เป็นและเห็นว่าแพทย์ที่อยู่ต่อหน้าเขาตรงนั้นสามารถขจัดสิ่งเลวร้ายทั้งหมดให้ออกจากชีวิตเขาไปได้ บางทีแพทย์รักษาคนให้รอดชีวิตได้เพียงหนึ่งคน แต่ก็เปรียบเสมือนได้รักษาทั้งครอบครัวของผู้นั้นเพราะได้รักษาจิตใจของครอบครัวผู้นั้นไปด้วยพร้อมๆ กัน เพราะ “คนไข้ของแพทย์” ไม่ใช่เป็นเพียงคนคนหนึ่งที่มาร้องขอความช่วยเหลือจากเรา ปริญญาบัตรหนึ่งใบก็ไม่ใช่ที่สุดของอาชีพแพทย์ แต่ถือเป็นเพียงขั้นแรกของก้าวบันไดแห่งเส้นทางชีวิตแพทย์เท่านั้น อาชีพแพทย์จึงเป็นอาชีพที่ถือได้ว่าเป็นอาชีพที่ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิตและ “รักคนไข้” อย่างใจจริง อย่างไรก็ตาม ฉันถือว่าเรื่องที่ฝังใจในอดีตนี้ยังเป็นบทเรียนอันยิ่งใหญ่ที่ทำให้ฉันใฝ่ฝันจะเป็นแพทย์ที่ดี มีความกล้าและเอาใจใส่ผู้ป่วยและญาติเสมือนญาติของตัวเอง และจนถึงวันนี้ฉันนำความโศกเศร้าในอดีตเปลี่ยนผันกลายเป็นแรงบันดาลใจที่ผลักดันสร้างความฝันและยึดมั่นอุดมคติไว้ว่า ต่อจากนี้จะไม่มีใครเสียชีวิตจากความกลัวของฉันเป็นอันขาด ถึงแม้ว่า แพทย์ก็เป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ใช่เทวดาที่จะเสกให้คนฟื้นคืนชีพได้ แต่ฉันก็จะรักษาคนไข้อย่างเต็มความสามารถด้วยพละกำลังทั้งหมดที่ฉันมีอยู่ เพราะหน้าที่หลักของฉันในอนาคตคือ “การช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์” สุดท้ายนี้ ฉันขอมอบอุดมการณ์ของ สมเด็จพระบิดาแห่งการแพทย์ไทย เป็นข้อคิดย้ำเตือนใจให้กับเพื่อนนิสิตนักศึกษาแพทย์และรุ่นพี่แพทย์ทุกท่านเพื่อให้เป็นหลักยึดมั่นในเส้นทางชีวิตไว้ว่า...

“ฉันไม่ต้องการจะให้พวกเธอมีความรู้เพียงอย่างเดียว ฉันต้องการให้พวกเธอเป็นบุคคลที่ถึงพร้อมแล้วด้วย”

“ I don’t want you to be only a doctor, but I also want you to be a man. ”

พระราชดำรัสในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

นางสาวณิชกานต์ สุขศิริลักษณ์ นิสิตแพทย์ ชั้นปีที่ 5 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ การศึกษา ประถมศึกษา : โรงเรียนพร้อมมิตรพิทยา กรุงเทพฯ พ.ศ. 2544 มัธยมต้น : โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้าฯ พ.ศ. 2547 มัธยมปลาย : โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พ.ศ. 2550 การศึกษาปัจจุบัน : นิสิตแพทย์ ชั้นปีที่ 5 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ความรู้สึกของการมีส่วนร่วม : “ภาคภูมิใจที่ได้ทำประโยชน์และชื่อเสียงให้กับ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความสามารถของตนเอง จึงทำให้รู้สึกเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ได้แรงบันดาลใจจากการทำงานและรวบรวมแนวคิดของตนที่มีต่อการเป็นนิสิตแพทย์ ออกมาเป็นรูปธรรม มีจิตสาธารณะ ต่อวิชาชีพแพทย์และสถาบันแพทย์ทุกระดับ”

นิสิตแพทย์จุฬาฯ : ชนะประกวดบทความ : แพทยสภา


Top Related